ไม่พบผลการค้นหา
ชาวชิลีที่เดินทางมาลงคะแนนประชามติเกินกว่าครึ่ง เลือกลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้าของประเทศ เพื่อนำมาใช้แทนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่ถูกร่างขึ้นเมื่อปี 2523 โดยนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ อดีตเผด็จการปกครองชิลี

ในช่วงคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 ก.ย.) หลังจากการนับคะแนนประชามติไปแล้วกว่า 96% คะแนนฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีมากถึง 61.9% เปรียบเทียบกับผู้รับร่างรัฐธรรมนูญแค่ 38.1% แม้จะมีประชาชนจำนวนมากที่ออกมาต่อแถว เพื่อรอเข้าคูหาการับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายซ้ายในครั้งนี้

ซีเมนา รินกอน หนึ่งในวุฒิสมาชิกชิลี ผู้นำการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กล่าวถึงชัยชนะของฝ่ายขวาว่า “ชัดเจนและแจ่มแจ้ง” และเรียกร้องให้มีการจัดการประชุมครั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กาเบรียล บอริก ประธานาธิบดีฝ่ายซ้าย ผู้รณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ยอมรับความพ่ายแพ้ดังกล่าว และจะทำการเรียกประชุมผู้นำพรรคในวันนี้ (5 ก.ย.)

“ผมมุ่งมั่นที่จะทุ่มเทอย่างเต็มที่ ในการสร้างแผนการเดินทางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควบคู่ไปกับทางรัฐสภาและภาคประชาสังคม” บอริกแถลงผ่านทางโทรทัศน์ ก่อนยืนยันว่า ตนจะเรียกประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ และทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในวันนี้

ชิลีจะยังคงบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม ที่ถูกร่างและบังคับใช้มาตั้งแต่ยุคเผด็จการปิโนเชต์ ในขณะที่อนาคตของประเทศจะยังคงตกอยู่ในความไม่แน่นอน โดยในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ประชาชนกว่า 80% ลงประชามติว่าตนต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หลังจากผ่านการเจรจาและปรับแก้มานับปี ประชาชนกลับรู้สึกไม่พอใจกับผลลัพธ์ในร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศมากนัก

หลังจากการลงประชามติมีความแน่ชัดว่า คะแนนเสียงส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้าของบอริก โดยประชาชนที่เลือกจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้ออกมาเฉลิมฉลองกันบนถนนทั่วชิลี อย่างไรก็ดี มีความกังวลว่าอาจมีการชุมนุมอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2562 อีกครั้ง จากประชาชนฝ่ายที่ต้องการรัฐธรรมนุูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ ประชาชนผู้รับร่างรัฐธรรมนูญที่ผิดหวังกับผลประชานมติ ได้ออกมารวมตัวกันที่จัตุรัสเพียงไม่กี่ร้อยคน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการสลายการชุมนุมด้วยก๊าซน้ำตาและการฉีดน้ำโดยเร็ว

ร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปล่าสุดของชิลี มีเนื้อหาที่พูดถึงสิทธิและการค้ำประกันทางสังคม เพื่อตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมชิลีในวงกว้าง เนื้อหาของรัฐธรรมนูญยังพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ และการจัดการกับองคพยพต่างๆ ในรัฐ อีกทั้งยังเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกในโลก ที่พูดถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม และมีการยอมรับชนพื้นเมืองของชิลีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศ

การปฏิเสธรับร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ที่พูดถึงสิทธิสตรีและสิทธิทางเพศ เกิดขึ้นตรงกันกับโอกาสครบรอบ 70 ปี ที่ผู้หญิงชาวชิลีได้รับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก โดยหลายฝ่ายที่วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุว่า ตัวเนื้อหากฎหมายสูงสุดพูดถึงการรับรองสิทธิชนพื้นเมือง ซึ่งจะก่อให้เกิดความแตกแยกในทางระบบการเมือง ในขณะที่ผู้สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญมองว่า การแก้ไขกฎหมายที่มีมรดกจากเผด็จการ จะช่วยปูทางให้ชิลีเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

บอริกแสดงท่าทีว่า ตนจะทำการเริ่มกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แต่เงื่อนไขและเนื้อหาในการปฏิรูปกฎหมายสูงสุดของชิลียังจะคงถูกถกเถียงกันไปในอีกระยะหนึ่ง 


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/sep/05/chile-votes-overwhelmingly-to-reject-new-progressive-constitution?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR3sQGLy7idFM9tCn-ccug70H_qeUXezcs0IfQtXjGpLCy8cYYod0xyNecw