จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดที่หนึ่ง คงหนีไม่พ้นชุมชนบางลำภู ถนนข้าวสาร และชุมชนโดยรอบ ซึ่งเป็นเซ็นเตอร์ของการท่องเที่ยวไทย
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงสำรวจพื้นที่บริเวณตรอกพานถม คลองบางลำภู และถนนรามบุตรี และถนนข้าวสาร ร่วมกับ ดร.ยุ้ย - เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ทีมนโยบายเพื่อนชัชชาติ เพื่อสำรวจชีพจรผู้ประกอบการในพื้นที่ และพูดคุยกับประชาชนซึ่งประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด และล่าสุดก็มีข่าวการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน อีกครั้ง
ชัชชาติ กล่าวว่า ชุมชนนี้มีเศรษฐกิจที่สำคัญอยู่ 2 รูปแบบ คือ การค้าขายกับคนในชุมชน และ ธุรกิจที่ค้าขายกับนักท่องเที่ยว ซึ่งธุรกิจในรูปแบบที่แรก ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่มีโจทย์สำคัญคือ จะจัดพื้นที่ค้าขายอย่างไร ให้คนในชุมชนมีพื้นที่ค้าขายอย่างมีระเบียบและราคาไม่แพง
ขณะที่ ธุรกิจรูปแบบที่ 2 ซึ่งเป็นการท่องเที่ยว มีความน่าเป็นห่วง โดยกล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการโรงแรม พบว่าช่วงก่อนที่สายพันธุ์โอไมครอนจะระบาด บรรยากาศเป็นไปค่อนข้างดี ยอดจองเยอะ แต่พอการระบาดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ก็ถูกแคนเซิลบุ๊กกิ้งกันทันที ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ กทม. ต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวให้กลับคืนมา
ทั้งนี้ สิ่งที่ กทม. จะช่วยได้ อาจจะเป็นเรื่องของการลดภาษี ลดการดำเนินงาน ช่วยในเรื่องการกระจายชุดตรวจ ATK และการสนับสนุน ทำแคมเปญให้คนกรุงเทพฯ เที่ยวภายในกรุงเทพมหานครกันเอง พร้อมกับเตรียมความพร้อมเมือง ให้พร้อมเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น
“ช่วงนี้ต้องประครองกันไป พอสถานการณ์ดีขึ้น เราได้เตรียมการเรื่องความมั่นใจไว้อยู่แล้ว สุดท้ายนักท่องเที่ยวก็ต้องกลับมา”
ชัชชาติกล่าวต่อว่า ชุมชนย่านคลองบางลำภู เป็นชุมชนที่มีที่มีศักยภาพมากในการพัฒนาต่อ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์และมีการท่องเที่ยว มีไอเดียที่อยากจะพัฒนาเป็นตลาดน้ำต่อไป แต่สุดท้ายต้องฟังเสียงคนในชุมชนเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชน คนกรุงเทพมหานครมีชีวิตที่ปลอดภัย และดีขึ้น และกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดีสำหรับทุกคน
ด้าน ดร.เกษรา ทีมนโยบายเศรษฐกิจเพื่อนชัชชาติ กล่าวว่า ผลกระทบจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นห่วงโซ่ที่ยาวมาก เพราะผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในเมืองเก่า ก็มีการจ้างงานคนในชุมชนแถวนี้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหา จึงแบ่งเป็นระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้น คือเรื่องของการสนับสนุนให้คนไทยมาเที่ยวไทย และระยะยาว เรื่องที่ต้องทำตลอด คือการสร้างความมั่นใจเชิงสาธารณสุข เพราะเชื่อว่านักท่องเที่ยวทั่วโลกต่อจากนี้จะให้น้ำหนักเรื่องความปลอดภัยเชิงสุขภาพมากขึ้น
“เราควรสร้างการรับรู้ว่า ความปลอดภัยด้านสุขภาพของ กทม. เป็นที่ยอมรับ ระบบสุขภาพของ กทม. อาจจะดีอยู่แล้ว แต่เรายังไม่ได้มีการสร้างการรับรู้ ดังนั้นโจทย์สำคัญคือ กทม. ก็ต้องประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับทราบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้พวกเขา และผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยด้วย นอกจากนี้” ดร.เกษรา กล่าว