ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 9.47 น. ได้รับรายงานว่า ทิวากร วิถีตน ชาวจังหวัดขอนแก่น ว่า ถูกเจ้าหน้าที่กว่า 20 นาย เข้าจับกุมตัวจากบ้านพักในอำเภอเมืองขอนแก่น ไปยัง สภ.ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น
ต่อมา ทนายเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เดินทางติดตามไปยัง สภ.ท่าพระ พบว่า ทิวากรถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดขอนแก่นที่ 42/2564 ลงวันที่ 3 มี.ค. 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
โดยเวลาประมาณ 7.00 น. ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจรวม 20 นาย นำโดย พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตร รองผู้กำกับสืบสวนสภ.ท่าพระ ได้นำหมายจับไปแสดงต่อทิวากร พร้อมกับเจ้าหน้าที่ยังได้นำหมายค้นที่ 89/2564 ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่น เข้าตรวจค้นบ้านพักของเขา โดยญาติของทิวากรได้อยู่ร่วมกันในการตรวจค้น
เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดของกลางในบ้านพักของทิวากร ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง, ไอแพด 1 เครื่อง, เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 2 เครื่อง, เสื้อยืดสีขาวและสีดำที่มีข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” รวม 3 ตัว และซองพัสดุ 1 ซอง
ต่อมา พ.ต.ต.สุริยัน ภูนบทอง พนักงานสอบสวน สภ.ท่าพระ ได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 3 ข้อหาต่อทิวากร โดยระบุพฤติการณ์ว่าเมื่อวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 ทิวากรได้โพสต์ข้อความ และภาพถ่ายในเฟซบุ๊ก ที่มีลักษณะเป็นการเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเห็นแล้วรู้สึกคล้อยตาม และเข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติตนไม่เป็นที่เคารพ เชื่อถือ และเป็นที่ศรัทธาของประชาชน อันเป็นการกระทำให้บุคคลอื่นเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น และมีการเข้าไปแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่รับรองสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ ไว้ตามมาตรา 2 และมาตรา 6 และยังเป็นการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50
ข้อกล่าวหาระบุว่าการโพสต์ข้อความของทิวากร ยังขัดต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไปที่เคารพศรัทธาองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย หลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตร ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสภ.ท่าพระ
ทั้งในบันทึกจับกุมและบันทึกการขอฝากขัง ไม่ได้มีการระบุข้อความที่กล่าวหาทิวากรไว้ชัดเจนแต่อย่างใด และพนักงานสอบสวนยังไม่ยินยอมให้สำเนาบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหากับทางผู้ต้องหาไว้อีกด้วย
ทนายความระบุว่าทิวากรถูกกล่าวหาจากพฤติการณ์ 3 ประการ คือ 1. การโพสต์ข้อความเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 2. การโพสต์ข้อความเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ปล่อย 4 แกนนำราษฎร เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 และ 3. การสวมเสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” โดยผู้กล่าวหาอ้างว่าพฤติการณ์ดังกล่าว จะทำให้ประชาชนที่มาพบเห็น เกิดความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อความมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามสถาบันฯ
ทิวากรได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยระบุกับเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ชั้นจับกุมว่าได้กระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีเจตนาปกป้องสถาบันกษัตริย์ ไม่ต้องการให้ผู้เห็นต่างทางการเมืองใช้ความรุนแรงต่อกัน ให้คนในชาติปรองดองและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
จากนั้นเวลาประมาณ 13.30 น. พนักงานสอบสวนสภ.ท่าพระได้ยื่นคำร้องขอฝากขังทิวากรต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นระยะเวลา 12 วัน โดยอ้างเรื่องการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 5 ปาก และตรวจสอบประวัติผู้ต้องหา รวมทั้งยังคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
การขอฝากขังดังกล่าว ทางตำรวจไม่ได้มีการนำตัวทิวากรไปที่ศาลแต่อย่างใด แต่กลับนำตัวไปที่เรือนจำขอนแก่นทันที และใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ในการขอฝากขัง โดยอ้างเหตุการระบาดของโควิด-19 ก่อนศาลจะอนุญาตให้ฝากขัง และทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 3 แสนบาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด ซึ่งช่วยเหลือคดีทางการเมือง
จนเวลาประมาณ 14.19 น. ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทิวากร โดยให้ใช้ทรัพย์ 1.5 แสนบาท โดยไม่ได้มีเงื่อนไขในการประกันตัว จากนั้นทิวากรจึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกลางขอนแก่น
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. 2563 ทิวากรนับเป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รายที่ 62 เป็นอย่างน้อยแล้ว และคดีของเขานับเป็นคดีที่ 49
สำหรับ ทิวากร ปัจจุบันอายุ 45 ปี ในช่วงเดือน มิ.ย. 2563 เขาได้แสดงออกโดยการเสื้อ ‘เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว’ พร้อมโพสต์ภาพและอธิบายเหตุผลไว้ในเฟซบุ๊ก และในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ทำให้เขาถูกเจ้าหน้าที่หลายหน่วยเข้าติดตามถึงบ้าน เพื่อโน้มน้าวไม่ให้เขาใส่เสื้อตัวนี้อีก
จนในเดือน ก.ค. ทิวากรได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัว และนำตัวส่งโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นฯ อ้างว่าเพื่อตรวจวินิจฉัยอาการทางจิต เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการรณรงค์ #saveทิวากร อย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งความพยายามของ “ไผ่ ดาวดิน” ในการยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากเห็นว่าทิวากรถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ แม้ศาลจะยกคำร้อง แต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ทิวากรก็ได้รับการปล่อยตัว หลังถูกควบคุมตัวไว้ในโรงพยาบาลรวม 14 วัน