หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล (WSJ) ยืนยันว่า 'เฉิน ฮาน หว่อง' นักข่าวชาวสิงคโปร์ที่ประจำกรุงปักกิ่งตั้งแต่ปี 2557 ถูกบังคับให้ออกจากประเทศจีนเมื่อวันศุกร์ (30 สิงหาคม) ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลปฏิเสธการออกหนังสือรับรองการทำงาน
การปฏิเสธหนังสือรับรอง ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการเป็นนักข่าวต่างประเทศในจีน ทำให้หนังสือพิมพ์ไม่สามารถยื่นต่อวีซ่าที่หมดอายุเมื่อวันศุกร์ให้เฉินได้ โดยกระทรวงต่างประเทศของจีนให้เหตุผลว่า "นักข่าวต่างประเทศที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามและมีเจตนามุ่งร้ายต่อรัฐบาลจีน เป็นนักข่าวที่ประเทศไม่ต้อนรับ"
เหตุจูงใจยกเลิกวีซ่า
เฉินคือหนึ่งในผู้เขียนรายงานเกี่ยวกับ การกระทำ 'หมิง ไช' ญาติของ 'สี จิ้นผิง' ประธานาธิบดีของจีน ที่กำลังอยู่ภายใต้กระบวนการพิจารณาและตรวจสอบจากกระบวนการยุติธรรมและหน่วยสืบราชการลับของออสเตรเลีย เกี่ยวกับความพยายามในการฟอกเงินรวมทั้งแหล่งเงินในการพนันของจำนวนมหาศาลของหมิง
ชีวิตส่วนตัวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของระเทศจีน ซึ่งส่งผลให้ตัวแทนของรัฐบาลเข้าไปพูดคุย WSJ เพื่อขอให้ยุติการนำเสนอรายงานดังกล่าว พร้อมขู่ว่าถ้ายังรายงานต่อจะมีผลที่ตามมาอย่างแน่นอน
'แมท มัวเรย์' บรรณาธิการบริหารของ WSJ กล่าวว่า มันเป็นเรื่องน่าผิดหวังที่รัฐบาลจีนปฏิเสธหนังสือรับรองกับนักข่าว เพราะข่าวของ WSJ เป็นธรรมและถูกต้อง แมท ยังย้ำว่า แนวทางการทำข่าวเกี่ยวกับจีนจะยังเหมือนเดิมด้วยมาตรฐานที่สูงอย่างที่ผู้อ่านคาดหวัง
สายสัมพันธ์รัฐบาลจีน-นักข่าวต่างประเทศ
'เฉิน ฮาน หว่อง' เป็นนักข่าวต่างประเทศประจำประเทศจีนของ WSJ คนแรกที่ถูกปฏิเสธหนังสือรับรอง นับตั้งแต่ WSJ เข้ามาตั้งสำนักข่าวในกรุงปักกิ่งตั้งแต่ปี 2523
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนและนักข่าวต่างประเทศย่ำแย่ลง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐบาลของสี จิ้นผิง พยายามเข้ามาควบคุมข้อมูลข่าวสารและอิทธิพลเหนือการใช้ชีวิตของประชาชนหลังจากทศวรรษแห่งความรุ่งเรืองเริ่มชะลอตัว
มีการบังคับใช้การเซนเซอร์ในสื่อท้องถิ่นเข้มงวดขึ้นและทั้งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็พยายามใช้ระบบรักษาความปลอดภัยอินเทอร์เน็ตป้องกันไม่ให้ข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศรั่วไหลเข้ามาในจีน
นอกจากกรณีของเฉิน เมื่อปีที่แล้ว 'เมกา ราจาโกพาลัน' นักข่าวชาวอเมริกันของสำนักข่าวบัซฟีด ถูกปฏิเสธหนังสือรับรองเช่นเดียวกัน โดยหลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลจีนพยายามตอบโต้ 'ราจาโกพาลัน' ที่ทำข่าวเกี่ยวกับการตรวจตราการจับกุมชาวมุสลิมจำนวนมากในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์
โดยความพยายามในการขัดความเสรีภาพของสื่อไม่ได้มีทีท่าว่าจะบางเบาลงแม้แต่น้อย