ตัวเลขการประเมินเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2562 จากธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลง อีกทั้งเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 โดยให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจแม้มีผลกระทบจากปัจจัยภาคนอกอย่างสงครามการค้าอยู่บ้าง แต่ก็มีการขยายตัวเติบโตถึงร้อยละ 4 ติดต่อกัน ประกอบกับการประเมินความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน กนง. จึงตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย
ในอีกมุมหนึ่ง การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้มีผลโดยตรงกับประชาชนที่มีรายได้ปานกลางจนถึงน้อยเป็นหลัก เนื่องจากประชากรในกลุ่มนี้มีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจนั้นยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนชั้นบนเท่านั้น ทำให้ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางลงไปไม่ได้มีความสามารถในการบริโภคมากขึ้น กลับเป็นการเพิ่มภาระหนี้ที่สูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
หนึ่งในหนี้ครัวเรือนที่สำคัญของประเทศไทย คือหนี้ที่เกิดจากบัตรเครดิต นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้าน กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวถึงยอดใช้จ่ายและยอดสินเชื่อรวมในปี 2561 โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสูงถึง 300,000 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับตัวเลขปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 10 ในขณะที่มียอดสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 90,000 ล้านบาท นับเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปัจจุบันกรุงศรี คอนซูมเมอร์แบกยอดสินเชื่อคงค้างรวม 137,000 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 8
เมื่อมองตัวเลขการเติบโตของบัตรเครดิตในปี 2562 นายฐากรมองว่า แม้มีการปรับประมาณตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง แต่ยังเชื่อว่าสินเชื่อบัตรเครดิตในปีหน้าจะเติบโตอยู่เนื่องจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนเปลี่ยนไปจากเงินสดเข้ามาสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยธนาคารกรุงศรีมองว่า ตัวเลขการเติบโตของตลาดบัตรเครดิตในปี 2562 อาจโตได้ถึงร้อยละ 11-12 ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลน่าจะเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 7 เท่านั้นเนื่องจากมีการเร่งขยายตัวแรงในปีนี้แล้ว
“จีดีพีอาจจะลดลง แต่ผมว่าบัตรเครดิตมันมีความแตกต่างอย่างหนึ่งตรงที่ว่า บางทีทำไมอยู่ๆ มันเจริญเติบโตของมันขึ้นมาได้ เนื่องจากว่าบางหมวดการใช้จ่ายมันเป็นการเปลี่ยนจากเงินสดมาเป็นบัตรเครดิตเยอะ ไม่ว่าจะเป็น ประกัน หรือร้านอาหาร มันเปลี่ยนจากเงินสดมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น มันก็เลยทำให้บัตรเครดิตมันโตได้” นายฐากร กล่าว
ประเด็นเรื่องหนี้เสียต่างๆ นายฐากรมองว่า สัดส่วนหนี้เสียตอนนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงนัก แท้จริงแล้วมีการปรับตัวลดลงมาตลอด แต่คิดว่าจะทรงตัวในปีหน้า
พัฒนาแอปฯเพิ่มการใช้จ่าย
ขณะนี้กรุงศรี คอนซูมเมอร์วางแผนพัฒนาแอปพลิเคชัน "ยูชูส" (UChoose) สำหรับให้บริการด้านบัตรเครดิตต่างๆของธนาคารกรุงศรีฯ เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรเครดิตให้มากขึ้น โดยตอบโจทย์การใช้บริการให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ต้องเข้าไปที่สาขาหรือโทรศัพท์หาคอลเซ็นเตอร์
นาบฐากรย้ำถึงแอปพลิเคชันนี้ว่า จะเป็นการพัฒนาที่นำแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิตให้ก้าวไปข้างหน้ายิ่งขึ้น เพราะกรุงศรีให้ความสำคัญกับระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานของลูกค้า ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนของฝั่งธนาคารแล้ว ก็ยังเป็นการตอบโจทย์ของผู้ใช้งานได้ดีขึ้น
ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานแอปฯ ยูชูส อยู่ที่ประมาณ 2.6 ล้านคน โดยเฉลี่ยใช้งานอยู่ที่ประมาณเกือบ 600,000 คนต่อวัน ในปี 2562 กรุงศรี ตั้งเป้าให้มียอดผู้ใช้งาน 4 ล้านคน และยอดผู้ใช้งานต่อวันอยู่ที่ 800,000 คน
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่สูงของประชาชนที่มีรายได้ปานกลางจนถึงรายได้น้อย การนำเงินในอนาคตมาใช้นั้นต้องประเมินศักยภาพการจ่ายเงินของตัวเองให้รอบคอบ เพื่อเลี่ยงการสร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น
ธนาคารย่อมมีหน้าที่ในการนำเสนอสินค้าและบริการมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา การเข้าไปใช้บริการจากธนาคารเพื่อสร้างความสะดวกสบายไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่สุดท้ายแล้ว ขึ้นอยู่ที่ผู้บริโภคว่าจะแยกได้หรือไม่ว่าสิ่งไหนคือความจำเป็น สิ่งไหนคือความต้องการ