วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่รัฐสภา วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเป็นการทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ถึงนโยบายพลังงานของรัฐบาลที่จงใจให้ประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระค่าไฟฟ้า เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนพลังงาน พร้อมแนะนำข้อเสนอทางนโยบายที่ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที
วรภพกล่าวว่า จนถึงต้นปี 2566 รัฐบาลได้มีการขึ้นค่าไฟฟ้าไปแล้วถึง 1 บาท/หน่วย หรือ 27% สำหรับครัวเรือน และ 1.7 บาท/หน่วย หรือ 47% สำหรับภาคธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลก็พยายามอธิบายมาตลอดว่าเป็นเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ก๊าซ LNG ที่ต้องนำเข้ามีราคาแพงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยไม่จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซ LNG ราคาแพงมาผลิตไฟฟ้า เพราะประเทศไทยมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่เพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าได้
จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทย ในปี 2565 สูงถึงวันละ 2,758 ล้านลูกบาศก์ฟุต ในขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ที่วันละ 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 233 บาท/ล้านบีทียู หรือเป็นค่าไฟ 2 บาท/หน่วยเท่านั้น ขณะที่ราคาก๊าซนำเข้า LNG มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 895 - 1,000 บาท/ล้านบีทียู คิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงถึง 7 - 8 บาท/หน่วย
วรภพกล่าวต่อไปว่า ทั้งที่ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมีมากพอขนาดนี้ แต่ด้วยนโยบายของรัฐบาล ที่กำหนดให้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ผลิตได้ ต้องถูกส่งไปยังโรงแยกก๊าซ (Gas Separation Plant - GSP) แยกไปเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีหรือพลาสติกก่อน ที่เหลือที่เป็นมีเทนจึงค่อยถูกนำไปใส่ไว้ที่ Energy Pool ซึ่งส่วนหนึ่งจะถูกขายเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แล้วที่เหลือจึงค่อยถูกนำไปป้อนให้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าทีหลัง
จะเห็นได้ว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ถูกนำไปให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ก่อนโรงไฟฟ้า รวมกันเป็นปริมาณถึง 1,615 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ 59% ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทย จนเป็นสาเหตุให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพงมากขึ้น นอกจากนี้ ต้นทุนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่แย่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ก็ไม่ได้ถูกนำมาร่วมเป็น Energy Pool ในการรับภาระต้นทุน LNG ที่มีราคาแพงขึ้นด้วย
วรภพกล่าวต่อไปว่า สำหรับตนแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ที่เคยเป็นอดีตผู้บริหาร PTTGC สมควรที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบมากที่สุดจากนโยบายที่ผิดพลาดนี้ ซึ่งถ้าเป็นพรรคก้าวไกล สิ่งที่จะทำอย่างแน่นอน และจะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้มากกว่า 70 สตางค์/หน่วย ภายใน 1 ปี ประกอบด้วย 3 ประการ :
(1) เปลี่ยนนโยบายพลังงาน ให้สัดส่วนก๊าซธรรมชาติที่กลุ่มปิโตรเคมีใช้ ต้องมาร่วมอยู่ใน Energy pool เพื่อร่วมหารต้นทุนของก๊าซนำเข้า LNG ด้วย จะนำไปสู่การลดภาระต้นทุนก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าลงไปได้ถึง 40,000 ล้านบาทต่อปี
(2) เปลี่ยนนโยบายให้อุตสาหกรรมหันไปใช้นำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซธรรมชาติ ตั้งวงเงินสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนอุปกรณ์ Burner จากก๊าซเป็นน้ำมันเตาด้วย ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าลงไปได้ 100,000 ล้านบาทต่อปี
(3) เปลี่ยนนโยบายการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับปิโตรเคมี โดยให้ PTTGC ต้องมีมาตรการระยะกลางในการลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักร พร้อมกับมีนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน ให้ PTTGC ต้องหันไปใช้ วัตถุดิบจากน้ำมัน “แนฟทา” (Naphtha) ให้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นหลักแทนที่ก๊าซธรรมชาติ เหมือนอย่างที่ปิโตรเคมีรายอื่นๆ ทำกันอยู่แล้วเป็นปกติและยังสามารถทำกำไรได้อยู่
วรภพยังกล่าวต่อไปว่า เรื่องของก๊าซธรรมชาติไม่ใช่สาเหตุเพียงประการเดียวของค่าไฟที่แพงขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของกำลังการผลิตส่วนเกิน ที่มากถึง 60% หรือ 19,873 เมกะวัตต์ ที่ส่วนใหญ่เกิดจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ที่ไม่ได้เดินเครื่องถึง 7 จาก 12 โรง ประชาชนต้องกลายเป็นผู้จ่ายค่าพร้อมจ่าย (AP) ให้โรงไฟฟ้าเอกชนเหล่านี้ทุกวัน เป็นจำนวนเงินมากถึง 2,395 ล้านบาท/เดือน
และแทนที่รัฐบาลจะไปเจรจากับเอกชนเหล่านี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน รวมทั้งการเร่งทบทวนแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (PDP) ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ของประเทศ แต่รัฐบาลกลับยังคงพยายามที่จะอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 3,900 เมกะวัตต์ โดยที่ไม่รอแผนพัฒนาพลังงานฉบับใหม่ที่จะต้องทบทวนให้รอบคอบ จนอดคิดไม่ได้ ว่าหรือนี่จะเป็นการอนุมัติทิ้งทวน เพื่อจะขอทุนจากกลุ่มทุนพลังงานมาใช้สำหรับเลือกตั้งปี 2566 เหมือนที่รัฐบาล คสช. เคยประเคนโรงไฟฟ้าให้กับกลุ่มทุนก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 หรือไม่
“จากประสบการณ์สมัยแรกของผม ผมยืนยันได้อย่างหนึ่ง ว่าเรื่องราวความมั่งคั่งของเจ้าสัวและกลุ่มทุนในประเทศไทย ไม่ได้มาจากนวัตกรรมหรือความสามารถ ความยากจนข้นแค้นของประชาชนก็ไม่ได้มาจากบุญกรรมหรือความพยายามที่ไม่มากพอ ทั้งหมดทั้งมวลมาจากการที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านี้มากเกินไปและยาวนานเกินไป นี่คือต้นตอของความเหลื่อมล้ำที่เกาะกินประเทศไทยอยู่ เลือกตั้งครั้งหน้าคือโอกาสที่ดีที่สุด ที่เราจะได้ปิดสวิตช์ 3 ป. เลิกเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน ทลายทุนผูกขาด ให้ปากท้องดี มีอนาคต เลือกก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” วรภพกล่าว