ไม่พบผลการค้นหา
ปิดฉากอย่างงดงามและเต็มอิ่มไปด้วยแง่คิดมุมมอง สำหรับละครเวทีเรื่อง “มหาบุรุษอยุธยา” ผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรสาขาการสื่อสารการแสดงดิจิทัล (PlayC) คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ที่จัดขึ้นทั้ง2 รอบในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงละคร DPU Hall ซึ่งนับว่าเป็นพิสูจน์ความพร้อมของนักศึกษาด้านการแสดง การทำละครเวที การเขียนบท และ งานโปรดักชั่นต่างๆ รวมไปถึงได้ใช้ทักษะทางด้านธุรกิจ การวางแผน การจัดทำงบประมาณ การบริหารทีมงาน ตลอดจนการฝึกซ้อมการแสดง การทำงานร่วมกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ นำเสนอจริงสู่ชุมชนและสาธารณชน ก่อนก้าวเข้าสู่การฝึกงานและทำงานจริงในอนาคต

โดยละครเวทีเรื่อง “มหาบุรุษอยุธยา” ในครั้งนี้มาจากบทประพันธ์ของ “ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์” ซึ่งแปลมาจากละครพูดที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมบทละครชั้นเอกจากต่างประเทศเรื่อง “Arms and the Man” ของ George Bernard Shaw เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม โดยเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาของบ้านคุณพระอัสนีไพรีพินาศ ที่มีภรรยาชื่อว่าซ่อนกลิ่นและลูกสาวชื่อดาวเรือง โดยเปิดฉากความวุ่นวายในคืนหนึ่งที่ได้เกิดสงครามใกล้ๆ บ้านของคุณพระ ดาวเรืองได้พบเจอและช่วยเหลือชายชาวมอญผู้หนึ่งซึ่งหนีสงครามและได้กระโดดแอบซ่อนตัวบนห้องนอนของดาวเรือง เธอจึงตัดสินใจช่วยโดยที่แม่ซ่อนกลิ่นไม่รู้เรื่องดังกล่าว จากนั้นเธอก็ได้ตกหลุมรักและต้องปิดบังความลับนี้ ทว่า...เมื่อคุณพระอัสนีไพรีพินาศกลับมาจากศึกสงครามพร้อมกับขุนคึกศึก นายทหารแนวหน้าของคุณพระและคู่หมั้นหมายของดาวเรืองนั้นกลับมาด้วย เรื่องราวของความรักในครั้งนี้ของดาวเรืองจึงเริ่มที่จะชุลมุนวุ่นวาย และชวนให้ติดตามและอยากรู้ตอนจบสุดท้ายของผู้คนต่างๆ ภายในบ้านหลังนี้


1958_0 (Custom).jpg

ผศ.ยุทธนา บุญอาชาทอง ที่ปรึกษารองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ กล่าวว่ารู้สึกประทับใจผลงานในครั้งนี้ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เป็นอย่างมาก เพราะในการจัดแสดงทั้ง 2 รอบ จำนวน 120 ที่นั่ง กระแสตอบรับดี เต็มทุกที่นั่ง ซึ่งแสดงถึงความพร้อมในตัวของนักศึกษารุ่นนี้ ทั้งงานแสดง และ การตลาด อันเป็นไปตามปณิธานของคณะฯ ที่มุ่งผลักดันความเป็น 'BEYOND Content Creators' ที่จะสร้างบัณฑิตสาขาการสื่อสารการแสดงดิจิทัลที่มีทักษะมากกว่าแค่ Content Creators ทั่วไป แต่ต้องรู้รอบด้าน มีคุณภาพและความพร้อมก่อนที่จะไปฝึกงานและทำงานจริงในอนาคต 

“แต่เดิมทุกปีรายวิชานี้นักศึกษาจะได้แสดงไม่ว่าจะหนังสั้นหรือละครเวที 1เรื่องในห้องเรียนเพื่อที่จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาที่จะเริ่มไปฝึกงานหรือทำธีสิสในเทอมต่อไป ซึ่งแม้จะจัดแสดงในห้องเรียนดูกันเองในสาขา แต่เด็กก็จะได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ ในการทำละครเวทีหนึ่งเรื่องไม่สามารถทำสำเร็จได้ในตัวคนเดียว ต้องประกอบด้วยทั้งการร่วมกันเป็นทีม การจัดการประสานงานด้านฉาก เสื้อผ้า แสงสีเสียงและต้องใช้ความสามารถที่เรียนมาแล้วทุกด้าน มาฝึกปฏิบัติจริงๆ ทุกขั้นตอนจึงจะทำได้สำเร็จ และ ปีนี้นักศึกษามีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งการกำกับ นักแสดง การออกแบบ การทำสื่อ ทำการสื่อสารการตลาด หาทุนค่าดูแลทีมงานภายในกอง หาผู้สนับสนุน ฯลฯ เพื่อให้เขามีความพร้อมที่ยิ่งขึ้นการขยายสเกลงานให้ใหญ่ขึ้นก็จะทำให้นักศึกษามีประสบการณ์ในระดับขั้นมืออาชีพที่มากกว่าเดิมและเหมือนกับเขาทำงานกันจริงๆ ซึ่งผลงานที่ปรากฏก็แสดงให้เห็นเขาทำกันได้จริงที่เราฝึกตั้งแต่แรกเข้าตอนปี 1 ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกของทางคณะฯ ท่านก็ยังบอกว่าน่าจะจัดเพิ่มรอบและควรที่จะไปจัดแสดงภายนอกมหาวิทยาลัยเพิ่ม”

ในฐานะนักปั้นมือทองประจำมหาวิทยาลัย ผศ.ยุทธนา  ขยายภาพการแสดงในครั้งนี้ที่นอกจากทักษะในการทำงานเต็มๆ ที่นักศึกษาได้รับไปกันนั้น ภายใต้เรื่องราวชุลมุนยังสอดแทรกทัศนคติ แก่นความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน เริ่มตั้งแต่การหยิบยกโหวตเรื่องที่จะแสดงที่สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมที่นิยมละครทางประวัติศาสตร์และมีฉากสงครามสมัยอยุธยา  เพื่อให้คนดูได้เกิดความตระหนักคิดที่สะท้อนผ่านแนวการแสดง Anti-romance ของตัวละครเอกที่หนีทหาร แต่ในระหว่างที่หลบซ่อนตัวก็ช่วยเหลือคนอื่นในอีกภาคส่วนหนึ่ง ขณะที่ส่วนคู่หมั้นนางเอกเข้าร่วมรบกับสงครามอย่างเต็มรูปแบบ ผสานหาจุดกึ่งกลาง 'ความเป็นสุภาพบุรุษ' และ 'ศักดิ์ศรี' ของคนเราอยู่ที่ตรงไหน? 

“นอกจากนี้ก็ยังมีในสัญญะรูปแบบการแสดงที่ร้องเพี้ยน ซึ่งเสียดสีคนที่มีฐานะและมีศักดิ์ในชนชั้น เวลาพูดก็มักจะเป็นกลอนหรือความคุณธรรม ทว่าหลังบ้านก็พูดจาแต่ละคำไม่ดีๆ สารพัดแล้วคุณธรรมอยู่ที่ตรงไหน นอกจากนี้ก็มีในเรื่องของความรักที่พูดกันในเรื่องภายใต้ฉากต่อหน้าแบบหนึ่ง แต่ลับหลังคือเจ้าชู้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะช่วยสร้างมุมมองให้คนดูละครได้หยุดคิดทบทวน ละครไม่เพียงเป็นความบันเทิงแต่ยังได้แง่คิดที่เพิ่มขึ้นจากการดูละครอีกด้วย” ผศ.ยุทธนา  กล่าว   

DSC_0266_0 (Custom).jpg

“ในความเป็นBeyond content creators ไม่ใช่แค่พระเอก-นางเอก เท่านั้นที่เราสามารถทำงานได้ดีและมีคุณภาพ แต่เรายังมีบริษัทจำลองที่เพิ่งเปิดขึ้นให้เด็กๆ ได้ทำงานจริงกับผู้ประกอบการ  เรายังมีการสอนงานเบื้องหลังการจัดแสงเสียงและฉากสำหรับคนที่ไม่ชอบงานเบื้องหน้า หรือสำหรับคนที่ไม่ชอบงานเบื้องหน้า เราก็มีวิชาดูแลศิลปินและการจัดการด้านนี้ เพื่อเป็นอาชีพได้ในอนาคต รวมไปถึงการสร้างมุมมองต่อยอดซึ่งเราก็ได้ประสานกับทางบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)  โดยที่เพิ่งจะคัดเลือกคนทำรายการใหม่ หรือการคัดเลือกนางแบบเดินงาน SUSTAINABILITY EXPO 2023 ของไทยเบฟฯ”

“ต่อไปเทอมหน้าก็จะมีเปิดวิชาไอดอล สร้างไอดอลคนหนึ่งตั้งแต่ร้อง เต้น บริการจัดการ ที่เราจะร่วมทำและก็จะเพิ่มช่องทางโอกาสให้กับเด็กๆ ในความร่วมมือ MOUกับบริษัทต่างๆ ทางด้านนี้ เพื่อสร้างและส่งเสริมรวมไปถึงมีพื้นที่ให้ได้แสดงความสามารถ หรือการแนะนำสร้างคาแรคเตอร์ให้นักศึกษาเติบโตได้ไว อย่างล่าสุดนักศึกษาเราก็ได้ร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่อง เพื่อน (ไม่) สนิท ประกบกับทางศิลปินภายนอก” ผศ.ยุทธนา  กล่าวสรุป


1955_0 (Custom).jpg1941_0 (Custom).jpg1952_0 (Custom).jpg1974_0 (Custom).jpg