ไม่พบผลการค้นหา
สร้างนักศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ สู่อาชีพรับราชการยุคดิจิทัล “บริหารยอด-ตัดสินใจเยี่ยม-คิดแบบผู้ประกอบการ”

สัมภาษณ์พิเศษ ชีวิตที่ไม่หยุดนิ่งของ “ผศ.ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ” คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ที่มากด้วยความสามารถจนได้รับการยอมรับทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งงานที่ปรึกษา และ งานด้านการศึกษาที่เน้นพัฒนา “นักศึกษา” ว่าที่ข้าราชการแห่งโลกอนาคต  ที่สามารถตอบสนองความต้องการ 'ประชาชนและสาธารณะ ' ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ  ยืดหยุ่น และปรับตัว  

“รัฐประศาสนศาสตร์ หรือ รปศ. คือการศึกษาเรื่องของการบริหารงานภาครัฐหรือบริการสาธารณะ ซึ่งครอบคลุม 'ทั้งประเทศ' ทั้งในส่วนกลางหรือภูมิภาคและท้องถิ่น เรียกได้ว่า งานนี้สัมผัสกับชีวิตประจำวันของประชาชนทุกชีวิตที่อยู่ในสังคมทันทีที่เราก้าวออกจากบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวและเดินลงบนทางเท้า ขึ้นรถ หรือรถไฟฟ้า หรือลงเรือ  เจ็บป่วยไปหาหมอ  เกี่ยวข้องกับภาครัฐหรือบริการสาธารณะทั้งสิ้น ซึ่งในการบริหารงานและขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองความต้องการประชาชน ต้องตั้งความมุ่งมั่นไว้เลยว่า ทำให้ได้ และจะทำให้ดีทำอย่างไร ?” ผศ.ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ เริ่มให้สัมภาษณ์ด้วยการอธิบายการบริหารจัดการภาครัฐ ตามลักษณะองค์กรที่บัณฑิตสามารถจบและทำงานได้  สามารถแบ่งออกได้แก่  ระบบราชการส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น   นอกจากนี้ยังมีรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานพิเศษ และภาคเอกชน รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการเองก็ได้  

ดังนั้น 'จิตสาธารณะ ความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการปรับตัวได้' จึงเป็นหลักการและทักษะสำคัญสำหรับคนที่ทำงานในสายงานนี้ได้ดีและมีประสิทธิภาพประสิทธิผล ซึ่ง 'คณบดี' ผู้มากด้วยความสามารถ ยังคงเดินบนเส้นทางนักพัฒนาแต่เป็นบทบาทในสถานศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง

ก้าวแรกของชีวิตอาจารย์กับก้าวแรกของรปศ. DPU

นับเกินกว่า 100 ปี ที่ศาสตร์ด้าน รัฐประศาสนศาสตร์นี้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย  จากอดีตมาจากการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยในสมัยล้นเกล้าในหลวงรัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนผ่านองค์ความรู้ด้านนี้อยู่ตลอดมา “ผศ.ดร.วลัยพร” บอกว่า จุดเริ่มต้นของคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เกิดขึ้นเมื่อ 18 ปี ที่แล้ว

“ เรียนจบทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ทีแรกตั้งใจว่าจะทำงานที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) หรือไม่ก็สำนักงบประมาณ (สปง.) แต่ก็ไม่เคยได้ทำ   กลับได้ไปทำงานเอกชน  และไปช่วยงานการเมือง เมื่อ DPU เปิดสาขารัฐประศาสนศาสตร์พอดีเราก็เลยลองมาสมัครเป็นอาจารย์ที่นี้” ผศ.ดร.วลัยพร เริ่มเล่า

3 (Custom).jpg

“ดังนั้นจึงได้เป็นอาจารย์คนแรกๆ ที่ร่วมเขียนหลักสูตร แม้ในยุคแรกของรัฐประศาสนศาสตร์ DPU ไม่ต่างไปจากสถาบันอื่นที่มุ่งเน้นรายวิชาความครอบคลุมเกี่ยวข้องทฤษฏีทางรัฐประศานศาสตร์  องค์การและการจัดการ นโยบายสาธารณะและอื่นๆ  แต่ในยุคที่สองความแตกต่างเริ่มเด่นชัดขึ้นจากวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของมหาวิทยาลัย โดยได้เสริมในเรื่องของ 'ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ' และแนวคิดแบบธุรกิจตามปรัชญาของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และเน้นเรื่องการบริหารงาน ควบคู่กับทักษะการแก้ไขปัญหา' รวมไปถึงการสร้าง 'ทักษะภาษาที่2-3' อย่างภาษาอังกฤษและภาษาจีน เพิ่มความเป็น International ให้นักศึกษา จนสามารถสร้างช่องทางใหม่ๆ ลดขีดจำกัด เพิ่มโอกาสที่หลากหลายยิ่งขึ้น”

“สิ่งที่มหาวิทยาลัย ได้เตรียมให้สำหรับนักศึกษาของเรา ในทุกคณะวิชา คือสอนให้รู้จักคำว่าความเป็นผู้ประกอบการ และ นักธุรกิจ คือให้คิดได้  เห็นโอกาส บริหารเป็นและกล้าตัดสินใจ ก็จะสามารถทำงาน ทำธุรกิจ หรือสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองได้ ดังนั้นการเรียนที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  เมื่อจบและเข้าสู่การทำงานมีโอกาสในการทำงานนอกจากหลากหลายองค์กรที่สามารถทำงานได้แล้ว ยังสามารถเพิ่มโอกาสในการทำงานได้ในภาครัฐ ( อาชีพหลัก) และทำงานของตัวเองควบคู่กันได้ ( อาชีพเสริม ) หรือแม้จะเรียนเรื่องของงานรัฐประศาสนศาสตร์ แต่ถ้าต้องทำธุรกิจ ก็มีความรู้ในการประสานงาน เช่น รู้จักกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องจดจัดตั้งบริษัทต่างๆ นักศึกษาก็จะมีความได้เปรียบจากการมีความรู้และเข้าใจระบบโครงสร้างราชการแผ่นดิน รวมไปถึงกระบวนการขั้นตอนติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องและสุดท้ายสามารถเป็นผู้ประกอบการหรือเป็นเจ้าของธุรกิจเองได้ด้วย”  

1678_0 (Custom).jpg

เทคโนโลยีดิสรัพชั่น : รปศ.พลัส ดิจิทัล 

ปัจจุบัน “ผศ.ดร.วลัยพร” ระบุว่า คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ได้เข้าสู่ยุคที่ 3 แล้วซึ่งได้นำแนวคิดดิจิทัลมาใช้ 2-3 ปีแล้ว  เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วและสร้าง 'กำลังคนที่มีคุณภาพ' สอดคล้องความต้องการของภาครัฐ

“ภาครัฐเองก็ปรับกำลังคนภาครัฐ และจากประสบการณ์ตัวเองที่ทำงานด้านยุทธศาสตร์ภาครัฐนานกว่า 15 ปี เป็นที่ปรึกษาและกรรมการในหน่วยงานราชการหลากหลายแห่ง โดยมีเชี่ยวชาญเป็นพิเศษคือ พื้นที่จังหวัด  พบว่าภาคราชการมีความต้องการบุคลากรภาครัฐดิจิทัลอย่างมาก  ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เก่งเทคโนโลยีสามารถที่จะช่วยทำให้เขามีโอกาสในการเข้าถึงความรู้ ข้อมูลและสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น  ดังนั้นนอกจากการมุ่งพัฒนากำลังคนภาครัฐโดยทั่วไป เราต้องมุ่งให้เขาเป็นกำลังภาครัฐที่เป็นดิจิทัล อันนี้คือรัฐประศาสนศาสตร์ที่บวกเพิ่ม ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้เครดิตท่านอธิการบดี ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ ที่วางนโยบายการสร้างรากฐานเรื่องดิจิทัลให้นักศึกษาตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาด้วยการแจก iPad และมีวิชาพื้นฐานที่ให้นักศึกษารู้จักเทคโนโลยี ทั้ง Metaverse, AI, Cryptocurrency และ Blockchain Technology  ฯลฯ เพื่อให้มีประสบการณ์ในการใช้ Technology และคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มพวกนี้ เมื่อจบออกไปจะใช้ได้ ใช้เป็นและได้ประโยชน์กับเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มหาวิทยาลัยเตรียมการไว้ตั้งแต่แรกศึกษาที่สถาบันแห่งนี้ ”

“นอกจากนี้ในส่วนวิชาการของคณะเราก็มีในเรื่องพลเมืองดิจิทัล การบริหารงานภาครัฐดิจิทัล การฝึกงานที่เน้นในหน่วยงานภาครัฐดิจิทัล การบริหารองค์กรเสมือน  เป็นต้น มีความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ เช่นที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES)   สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ( กพร.)  คณะเรามีความร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในเรื่องการเรียนการสอน การพัฒนานักศึกษาและบุคลากรของเรา องค์ความรู้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (SMART City)  และยังร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ( สดช.)  ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการประสานเพื่อลงนามความร่วมมือทำงานในงานวิชาการของทั้งสองฝ่ายต่อไป   นอกจากนี้ทางคณะยังมีโครงการต้นกล้าดิจิทัล  (ภาครัฐ) ที่เราจะบ่มเพาะพวกเขาให้เป็นผู้นำนักศึกษาและกำลังคนภาครัฐในการขับเคลื่อนภาครัฐดิจิทัลต่อไป”

 

“ดังนั้นคณะรัฐประศาสนศาสตร์ของเราในยุคสมัยปัจจุบัน จะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ทางรัฐประศาสนศาสตร์ บวกความเป็นผู้ประกอบการและความรู้ความสามารถในเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มุ่งป้อนเข้าระบบราชการเป็นหลัก  แต่ทั้งนี้ผลลัพธ์สุดท้ายต้องเน้นที่นักศึกษาเป็นหลัก เราคิดเสมอว่าเมื่อจบไปแล้วจะทำอย่างไรให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ  ไม่ใช่มาเรียนแล้วอย่างไรก็ต้องจบ แต่เราอยากให้เขาจบแบบได้ในสิ่งที่เขาควรได้และเป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็น ช่วยทำให้ความฝันในสายอาชีพเป็นความจริง  โดยที่เขาอยากเป็นอะไรก็พร้อมสนับสนุน  เตรียมความพร้อมให้แม้แต่ไม่ได้ทำงานตรงสายก็ตาม เพราะเราก็ถือว่าเราสร้างคนที่ต้องทำงานได้ทุกสาย บางช่วงเวลาที่ผ่านไป  แต่ละคนก็อาจเปลี่ยนเป้าหมายในชีวิตกันได้ ทว่าบังเอิญเขาเปลี่ยนช่วงอยู่กับเรา เราก็ต้องสนับสนุนแนะนำการเรียนการสอนจากสิ่งที่เรามีไปถ่ายทอดให้เด็กคิด วิเคราะห์  ได้ทดลองทำ แนะนำให้ถึงฝันในเส้นทางของตน”

1673_0 (Custom).jpg

 'หนทางที่ท้าทาย'  สร้างคนและการพัฒนา

จากสาขารัฐประศาสนศาสตร์ กลายมาเป็นคณะรัฐประศาสนศาสตร์   เป็นแห่งเดียวของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีสถานะเป็นคณะวิชา เป็นที่ยอมรับในการทำบริการวิชาการและงานวิจัยต่างๆ มากมายทั้งระดับชาติเช่นรับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) รับทุนจากหน่วยงาน จังหวัด ภาครัฐและภาคเอกชน  “ผศ.ดร.วลัยพร” ยอมรับว่างานมีความท้าทายไม่น้อยเลย แต่ไม่เคยคิดว่าเป็นอุปสรรค เพราะเป็นการเรียนรู้ ทุกโจทย์คือการเติบโตและมีหลักยึดคือ “ก้อนกรวดสร้างยอดคน” ได้ และเราต้องสร้างคนและสร้างทีมตลอดเวลา

“หัวใจการทำงานและเป็นสูตรสำเร็จตลอดมาคือ ' ใส่ใจ '   ใส่ใจหรือทุ่มใจในทุกเรื่อง  ไม่ว่าวางแผน ดำเนินการ ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย จะอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราใส่ใจทุกสิ่งที่เราทำเราจะมีความเพียรพยายาม มีความมุมานะให้มันสำเร็จ และอีกอย่างเราต้องกล้าที่จะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น และกล้าตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา ประชุมอาจารย์ในคณะค่อนข้างบ่อย เพื่อรู้ความคืบหน้า วางแผนและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ทัน เพราะทุกอย่างหาก จะไปให้ถึงเป้าหมายเราก็ต้องรู้ว่ามันติดขัดอะไรตรงไหน” 

“ก็ต้องขอบคุณความท้าทายหรือบางสิ่งที่ไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ สิ่งนี้ทำให้เราเติบโต เรียนรู้ คนเราพิสูจน์ตรงความยาก   เราเชื่อว่าเรื่องง่ายๆ เอาไว้ให้ใครก็ได้มาทำ แต่เรื่องยากนี่ซิ คือสิ่งที่สร้างคน คนๆ นั้นต้องเอาชนะความท้าทาย ปัญหาด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และซึ่งกว่าเราจะชนะมันทำให้เราได้คิด ได้ทำ ได้สร้างสรรค์งาน ทำให้สมองและกำลังใจของเราเติบโต เราจะฉลาดและเก่งขึ้น”

ผศ.ดร.วลัยพร บอกต่อว่า ตอนนี้เป้าหมายต่อไปคือการสร้างคนและเยาวชน 'ให้ดีและเก่งสำหรับโลกอนาคต' ซึ่งนับเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาในการใช้เป้าหมายใหม่ คือ “ มุ่งผลิตกำลังคนภาครัฐดิจิทัล สร้างสังคมยั่งยืน  ”  โดยจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเพื่อให้เป็นภาครัฐดิจิทัลมากขึ้นและให้ความสำคัญกับความเร็วยิ่งขึ้น

“อยากได้คนเก่งและดี แต่บางทีคนเก่งไม่ได้ไปด้วยกับคนดีและคนดีบางทีไม่เก่ง เราก็ต้องเสริมทักษะในตรงนี้ โดยออกแบบให้นักศึกษาไปสัมผัสข้าราชการที่ทำงานภาครัฐดิจิทัลโดยตรงทั้ง ป.ตรีและโท รวมถึงให้นักศึกษาคิดเองได้ให้เขาเลือก Area ที่เข้าจะไปอยู่เพื่อเรียนรู้สร้างโปรเจกต์และโครงงานต่างๆ ซึ่งเมื่อทันทีที่สอบเข้า กพ. ได้ก็พร้อมทำงานได้เลย เหมือนรุ่นพี่บัณฑิตที่ผ่านมาหลายๆ คน เราต้องเน้นความเร็วในการสร้างคนให้เติบโต ปรับตัวได้และทำงานได้ทันทีด้วย”

“ขณะเดียวกันในด้านอาจารย์ บุคลากรของคณะ ก็พยายามเสริมสร้างน้องๆ อาจารย์คนรุ่นใหม่เพื่อมารองรับและให้เขาเป็นคนที่พร้อมรับมือเรื่องต่างๆ ในอนาคตได้ทุกเรื่อง และขยายเครือข่ายเพิ่มในเรื่องของงานวิจัยและการบริการวิชาการในภาคดิจิทัลยิ่งขึ้นกว่าที่ทำอยู่  และสร้างเครือข่ายการทำงานเช่น ปีที่แล้วคณะรัฐประศาสนศาสตร์ทำวิจัยที่ต้องทำงานกับ 26 จังหวัด   ปีนี้เวอร์ชั่น 2 ดำเนินการกับจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด ซึ่งจะเห็นได้ว่าอาจารย์ของเรามีความเข้มแข็งในการทำงานจริงกับภาครัฐ  นักศึกษาได้ลงพื้นที่จริง และเติมเต็มคนรุ่นใหม่เข้ามาในทีมตลอด”  

“อีกประเด็นที่คณะให้ความสำคัญมากคือ ศิษย์เก่า มาถึงวันนี้คณะมีศิษย์เก่ามากถึงเกือบสามพันคน ทั้งป.ตรี ป.โท

ศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว เติบโตในสายงานของเขา เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราจัดงานใหญ่ “ร้อยดวงใจชาวรปศ.DPU” ซึ่งเป็นการรวมตัวอย่างเป็นทางการ จัดที่สโมสรทหารบก มีตัวแทนจากรุ่นต่างๆมารวมตัวกัน และมีการจัดตั้งชมรมศิษย์เก่ารปศ. DPU ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับศิษย์ปัจจุบันและอาจารย์ เช่นในเดือนตุลาคมนี้ก็มีกิจกรรมศึกษาดูงานพร้อมกันทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน  ฯลฯ เราตั้งเป้าหมายว่าจะผนึกกำลังจากสามส่วนนี้ สร้างการมี engagement และความแข็งแกร่งของชมรมศิษย์เก่ารปศ. DPU” ผศ.ดร.วลัยพร กล่าวโดยสรุปถึงการทำงานที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายทุกส่วนทั้งองค์กรภายนอก และ ตัวองค์กรภาคการศึกษาเอง ทั้งอาจารย์ นักศึกษา และโดยเฉพาะศิษย์เก่า