ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เปิดบรรยายสาธารณะพิเศษ "ชวนสนทนาว่าด้วย ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ที่ชั้น 5 อาคารไทยซัมมิท สืบเนื่องจาก 10 ข้อเสนอจากการชุมนุมของเยาวชนนิสิตนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563
ปิยบุตร กล่าวว่ารัฐสมัยใหม่ จะแยกประโยชน์สาธารณะกับเอกชนออกจากกัน หรือแยก Public กับ Private ออกจากกัน ต่างจากผู้ปกครองรัฐโบราณ ที่อ้างความชอบธรรมจากพระเจ้า กษัตริย์จึงเป็นสมมติเทพ แต่รัฐสมัยใหม่นั้น ผู้ปกครองต้องมาจากการเลือกตั้งของคนในรัฐ และต้องตรวจสอบได้ ส่วนระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เกิดจากการต่อสู้กันระหว่างรัฐสภาหรือฝ่ายประชาชนกับระบอบกษัตริย์ เพื่อจำกัดพระราชอำนาจให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และในฐานะประมุขของรัฐนอกจากต้องเคารพรัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้น การรัฐประหารทุกครั้งแล้วให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย เป็นการทำลายสถาบัน เพราะเป็นการบีบบังคับประมุขของรัฐให้ทำผิดรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ พระมหากษัตริย์ไม่ใช่เจ้าของประเทศ เพราะประเทศเป็นของประชาชน แต่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ จึงต้องมีการแบ่งแยกทรัพย์สินของตำแหน่งซึ่งถือเป็นของรัฐกับบุคคลที่ทรงดำรงสถานะพระมหากษัตริย์ออกจากกัน หรือแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกันตามหลักปกครองของรัฐสมัยใหม่
ปิยบุตร ยืนยันว่า ไทยมีรูปแบบของรัฐเป็นราชอาณาจักร ส่วนการปกครองเป็นประชาธิปไตยดังนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นหลัก และขยายความให้เห็นรูปแบบรัฐที่เป็นราชอาณาจักรว่า 'พระมหากษัตริย์เป็นประมุข' ซึ่งต้องมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง สะท้อนผ่านบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญซึ่งก็คือความที่ว่า 'ผู้ใดจะละเมิดมิได้' และ 'จะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้' ซึ่งไม่ใช่ความเป็นอภิสิทธิ์ชน แต่ทั่วโลกให้เอกสิทธิ์นี้รวมถึงประเทศที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐด้วย
โดยเห็นว่า หลักการ 'การจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้' นั้น ต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 4 เงื่อนไข คือ
1.พระมหากษัตริย์จะต้องไม่กระทำการใดโดยพระองค์เอง ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการทุกครั้ง และผู้รับสนองเป็นผู้ใช้อำนาจที่แท้จริงและจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
2.ไม่มีการแบ่งแยกว่าการกระทำใดเป็นของพระมหากษัตริย์หรือของรัฐบาล แต่ต้องเป็นก้อนเดียวกัน
3.ต้องไม่มีใครรู้ว่าพระมหากษัตริย์คิดหรือดำริอะไร แม้ทรงให้คำปรึกษารัฐบาล ก็ต้องเป็นความลับ และรัฐบาลจะทำตามหรือไม่ก็ได้ ซึ่งรัฐบาลที่จงรักภักดีจะต้องไม่อ้างพระมหากษัตริย์ในการดำเนินการเรื่องใดๆ ก็ตาม
4.พระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ต้องให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐสภารับรู้
ปิยบุตร ขยายความในประเด็นต่างๆ ด้วยว่า คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 โดยช่วงแรกเรียกว่า 'ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ' และมีการช่วงชิง ต่อรองจากกลุ่มอำนาจเก่า กระทั่งเกิดรัฐประหารและมีรัฐธรรมนูญ 2492 ที่ขยายพระราชอำนาจและเรียกระบอบปกครองว่า 'ประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข' เป็นครั้งแรก และใช้ต่อเนื่องมาจนรัฐธรรมนูญปี 2534 เพิ่มคำว่า 'อัน' เข้าไปให้เป็นประโยคเดียว และการรัฐประหารปี 2549 มาผลิตซ้ำ จนเกิดภาวะที่ต้องเรียกระบอบปกครองว่า 'ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข' ที่บางฝ่ายบอกว่าจะเรียกประชาธิปไตยเฉยๆ ไม่ได้ กลายเป็น 'อัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญไทย'
อย่างไรก็ตาม การเปิดพื้นที่ให้พูดถึงสถาบันเบื้องสูงด้วยความเคารพและปรารถนาดีเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะให้ระบอบปกครองนี้และสถาบันเบื้องสูงมีความมั่นคงถาวร พร้อมเสนอทางออกจากวิกฤตการเมืองห้วงนี้ว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จากนั้นดำเนินการยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นทางออกเดียวที่สังคมไทยมีอยู่ หากปราบปรามผู้เห็นต่าง ก็จะหายไปจากประเทศไทยช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ความคิดก็ยังจะมีอยู่และท้ายที่สุดก็ต้องวนกลับมาที่เดิม แนวทางนี้ จึงไม่เป็นคุณต่อใครทั้งสิ้น แต่เป็นการฆ่าอนาคตของชาติและจะทำให้สังคมไม่มีอนาคตอีกต่อไป
ปิยบุตร กล่าวด้วยว่า จึงขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐ อย่าเอากฎหมายไปเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือไปรับใช้รัฐตำรวจเพียงเพราะต้องการปิดปากแกนนำเยาวชนไม่ให้ขึ้นเวทีปราศรัย