เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงการปิดสวิตช์ ส.ว. เริ่มต้นล้างมรดกบาป คสช. เปิดทางร่างรัฐธรรมนูญประชาชน โดยระบุถึงไทม์ไลน์สู่รัฐธรรมนูญฉันทามติใหม่ประชาชน เดินหน้าทำได้ทันที โดยเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับ 3 ประเด็น เพื่อรื้อระบบสืบทอดอำนาจ คสช. กลับไปสู่การเมืองในระบบปกติ และถอดชนวนระเบิดเวลาที่ฝังไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก่
ฉบับแรก ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อยกเลิกการรับรองให้ประกาศ คำสั่ง คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดกาล (ยกเลิกมาตรา 279)
ฉบับที่สอง ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามบทเฉพาะกาล 250 คน (ยกเลิก มาตรา 269 270 271 และ 272)
ฉบับที่สาม ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปเป็นเสียงกึ่งหนึ่งของสองสภา และกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ (แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ทั้งสามฉบับนี้ ส.ส. สามารถช่วยกันผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในสมัยประชุมนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องให้ประชาชนต้องลำบากและเสียเวลา เสียทรัพยากรในการเข้าชื่อ 50,000 คน
ปิยบุตร ระบุว่า ทั้งสามฉบับนี้ ส.ส. สามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ทันที โดยไม่ต้องไปออกเสียงประชามติก่อน เพราะมาตรา 256 ก็กำหนดเอาไว้อยู่แล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องใดบ้างที่ต้องจบที่ประชามติ (ในกรณีนี้ คือ ฉบับที่สาม การแก้วิธีการแก้ และการเพิ่มหมวดทำรัฐธรรมนูญใหม่) และมาตรา 256 ไม่ได้กำหนดให้ต้องออกเสียงประชามติก่อนเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
ปิยบุตร ระบุว่า ทั้งสามฉบับนี้ สามารถดำเนินการได้ทันทีตามกรอบเวลา ดังนี้
ภายใน 15 ส.ค. 2563 ส.ส. 100 คนขึ้นไป เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสามฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
ภายใน 18 ก.ย. 2563 (ก่อนปิดสมัยประชุมสภา) รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ฉบับ โดยสองฉบับแรก นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ได้ทันที ส่วนฉบับที่สาม ต้องนำไปออกเสียงประชามติ
ภายใน 31 ต.ค. 2563 สรรหาสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 200 คน ตามระบบปกติ มาตรา 107
ภายใน 30 พ.ย. 2563 ยุบสภาผู้แทนราษฎร กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับแก้มาตรา 256 และเพิ่มหมวดทำรัฐธรรมนูญใหม่
24 ม.ค. 2564 เลือกตั้ง ส.ส. พร้อมกับออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับแก้มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
ภายในสิ้นเดือน ก.พ. 2564 เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน ธ.ค. 2564 มีรัฐธรรมนูญใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560
"ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ไม่ต้องมีรัฐประหาร ไม่ต้องมี รัฐบาลแห่งชาติ ไม่ต้องมีความขัดแย้งรุนแรง แก้ไขวิกฤตการเมืองไทย ถอดสลักระเบิดเวลาในรัฐธรรมนูญ 2560 นำการเมืองไทยกลับสู่ระบบปกติ ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ทำได้ทันที เพื่ออนาคตประเทศไทย เพื่ออนาคตลูกหลานของเรา" ปิยบุตร ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง