โภคิน พลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าและ กมธ.ชุดดังกล่าว ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โภคิน เริ่มต้นเกริ่นถึงรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่มีการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยในปี 2538 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ในสมัยของ บรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นตนเป็นรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนนำแนวคิดนี้มาใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากตอนนี้ทุกฝ่ายเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อบกพร่องและจุดอ่อนมากมายจึงเสนอเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.เพิ่มหมวดที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกคนเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญและทำประชามติ ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ต้องกีดกันใครออกไป และไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่กระทบอำนาจ ส.ว. ทั้งนี้ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.ก็เปิดให้มีการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นอื่นๆ
ตอนนี้ทางพรรคฝ่ายค้านได้จัดทำร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วและจะเสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 17 ส.ค.นี้ โดยคาดว่าขั้นตอนหลังจากนี้คือ ใช้เวลา 15 วันในการบรรจุวาระและพิจารณาวาระ 1 จากนั้นหากรับหลักการก็ไปสู่วาระที่ 2 ตั้งกรรมาธิการภายใน 1 เดือน รอ 15 วันเข้าวาระที่ 3 แล้วจึงไปทำประชามติใช้เวลา 6 เดือน จะได้ ส.ส.ร. ดีกว่าการรอรายงานจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กว่าจะเสร็จ กว่าจะเสนอสภา และให้สภารับรอง
แต่ที่ โภคิน ย้ำคือ หากต้องการให้ประเด็นแรกผ่าน ต้องไม่ไปกระทบใครในทันที ไม่ต้องไปลดอำนาจใคร แต่ประชาชนจะได้เห็นว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้ามา
ด้าน ปิยบุตร กล่าวว่า ข้อเสนอของตนก็ไม่ต่างจาก โภคิน มากนัก คือ การแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้เสียงเพียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา เหมือนรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540, 2550 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. แต่จากอุณหภูมิทางการเมืองตอนนี้ ข้อเรียกร้องของเยาวชนที่มองว่ารัฐบาลชุดนี้เกิดมาจากการสืบทอดอำนาจจาก คสช. และวุฒิสภา 250 คนตามบทเฉพาะกาลเป็นอุปสรรคที่ทำให้การเลือกตั้งไม่ตอบสนองความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม ส.ว. ได้ปฏิบัติภารกิจการสืบทอดอำนาจก็ได้ทำไปแล้วคือโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่รัฐบาลเองตอนนี้ก็มีจำนวน ส.ส.ทิ้งห่างฝ่ายค้านไปกว่า 60 เสียงแล้ว ตนจึงเสนอให้ยกเลิก ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 269-272 ซึ่งหากทำตามข้อเสนอนี้ก็จะชนะด้วยกันทุกฝ่าย นายกรัฐมนตรีเองก็จะสง่าผ่าเผยมากขึ้น โดยไม่มี ส.ว. ค้ำบัลลังก์ แล้วถ้ามีการยุบสภาก็จะเป็นไพ่ที่ใช้ผ่าทางตันของประเทศได้จริง
ขณะเดียวกันเมื่อ ส.ว.พ้นสภาพไปก็สามารถมาสมัครใหม่ตามกระบวนการสรรหา ส.ว. 200 คนตามระบบปกติในมาตรา 107 เพราะเรื่อง ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลให้แตะขึ้นมาก็ต้องร้องยี้พร้อมกัน ซึ่งหากแก้ตรงนี้ก็จะลดอุณหภูมิทางการเมืองลงได้ และยกเลิกมาตรา 279 ที่ว่าด้วยรับรองประกาศคำสั่งและการใช้อำนาจของ คสช. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เป็นไปตามหลักการในรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีอำนาจสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช. ซึ่งศาลอาจจะบอกว่าทั้งหมดชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดช่องทางให้ประชาชนได้โต้แย้งการใช้อำนาจของ คสช.
“เราฝันอยากจะเห็นสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้วก็เข้ามาทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้ามาแทนที่ มันเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นฉันทามติร่วมกันของสังคมไทย เพราะว่าตั้งแต่รัฐประหาร 2549 มารัฐธรรมนูญ 4 ฉบับสุดท้ายเป็นฉบับแก้แค้นเอาคืน เป็นรัฐธรรมนูญที่ผู้ชนะยึดเอาไว้เขียนเองหมด แต่รัฐธรรมนูญที่ดีจะเป็นของผู้ชนะไม่ได้ คนเขียนต้องจินตนาการด้วยว่าคนเขียนวันหนึ่งอาจจะเป็นฝ่ายแพ้ ฝ่ายข้างน้อย ดังนั้นต้องหากติการ่วมกันที่ทุกคนเป็นเจ้าของ” ปิยบุตร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปิยบุตร กล่าวว่าในระหว่างทางที่จะมี ส.ส.ร. บางประเด็นที่ต้องแก้ไขสามารถเสนอเป็นญัตติการแก้รัฐธรรมนูญ โดย ส.ส. 100 คน, คณะรัฐมนตรี หรือประชาชน 50,000 คน ดังนั้นจึงสามารถเสนอเข้าไปได้ตลอด แต่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้นเอง พูดกันตามตรงคือถ้าจะให้ผ่านต้องพูดคุยกันก่อนว่าจะยอมรับกันได้หรือไม่ ให้ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน เช่น ข้อเสนอของตนอาจจะไม่ได้รับการตลอดสนองหมด แต่เป็นทางเลือก หลายคนบอกว่าต้องแก้กฎหมายเลือกตั้ง หลายคนบอกว่าต้องแก้ยุทธศาสตร์ชาติ แต่ท้ายที่สุดคือต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่าน ส.ส.ร.
ขณะที่ โภคิน เห็นด้วยว่าประเด็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขในรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 279 ซึ่งทำให้ประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ใหญ่กว่าบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ ประกาศคณะปฏิวัติเหล่านี้ไม่เคยถูกยกเลิก แล้วพอมาบอกว่ามันชอบด้วยรัฐธรรมนูญหมด สิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ก็ไม่เป็นจริง ซึ่งตรงนี้ตนมองว่าการแก้ไขไม่ได้ไปขัดแย้งกับใคร แต่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์
ส่วนเรื่อง ส.ว. ตนเห็นว่าบทเฉพาะกาลมีไว้เพื่อเปลี่ยนผ่าน แต่สิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2560 หรือรัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นมาหลังรัฐประหารจะมีเรื่องการสืบทอดอำนาจเข้ามาตลอด แต่สิ่งแรกคือต้องมี ส.ส.ร. ให้คนเห็นว่าอีกหนึ่งปีกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นของประชาชน ตอนนี้ประชาชนหลายคนมีข้อมูล มีความรู้ คนจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แล้วทำไมเขาไม่ได้ใช้
“น้องๆ นักศึกษาหรือประชาชนก็มองว่าอันนี้มันประเทศของใคร อันนี้คือสำคัญ แต่ถ้าผู้มีอำนาจเห็นว่าตรงนี้มันสามารถปลดเปลื้องไปได้ก็ช่วยกันมองไปข้างหน้า ได้อำนาจมาโดยชอบไม่ชอบไม่ว่ากันแล้ว แต่วันนี้ขอเดินไปข้างหน้าให้ทุกคนไปในทิศทางที่เป็นพี่เป็นน้องกันมันต้องทำแบบนี้ ถ้ายังคิดว่าเป็นศัตรู ยังคิดว่าฉันจะเอาเปรียบแบบนี้ มันไม่ได้เกิดอะไรขึ้นนอกจากสร้างความหวาดระแวง ที่ผมกลัวก็คือจากความหวาดระแวงไม่สบายใจกลายเป็นความโกรธ ถ้าโกรธพัฒนาเป็นเกลียดชัง มันอันตราย มันจะไม่ฟังกันแล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้มันต้องให้เป็นว่ามันมีแสงสว่างเสมอที่ในที่สุดแล้วทุกคนคุยกันได้ทุกคนเดินในทิศทางเดียวกันได้” โภคิน กล่าว
เมื่อถามถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปิยบุตร บอกว่า ถ้าดูจากมาตรา 256 ก็จะรู้อุปสรรคอยู่ตรงที่จะเอาเสียง ส.ว. 84 คนมาได้อย่างไร ถ้าไม่ได้เสียง ส.ว. ก็ตกตั้งแต่วาระแรก และอุปสรรคสุดท้ายคือเราไม่มีทางรู้ว่าผลประชามติจะเป็นอย่างไรภายใต้กลไกรัฐที่เป็นแบบนี้ แต่ตนเชื่อว่าถ้าประชาชนสนับสนุนกันมหาศาล การบิดผันการลงประชามติเหมือนครั้งก่อนคงทำไม่ได้ แต่ต้องทำให้ ส.ว. 84 คนเห็นก่อนว่านี่คือทางออกของประเทศ มีคนไม่พอใจรัฐบาล และ ส.ว.
ดังนั้นตอนนี้เรามีโอกาสที่จะคลี่คลายปัญหาอย่างสันติ แต่ถ้าปล่อยไว้จะไถลออกไปอย่างย้อนกลับมาแก้ไขไม่ได้ อย่างไรก็ตามตนมองว่าเหตุผลที่ ส.ว. หลายคนยกมาอ้างว่าไม่เห็นด้วยในการแก้ 256 และจัดตั้ง ส.ส.ร. เป็นเหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญซึ่งระบุแนวทางแก้ไขไว้และขณะเดียวกันข้ออ้างว่าการแก้ทั้งฉบับเหมือนเซ็นเช็คเปล่า ก็ย้อนแย้งกับตอนยึดอำนาจที่ฉีกรัฐธรรมนูญและเขียนใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งคนก็จะมองว่า ส.ว.หวงอำนาจ
โภคิน กล่าวเสริมว่าเบื้องต้นต้องมี ส.ส.ร.ก่อน เพราะตอนนี้เดินไปต่อไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ที่มองว่าคนรุ่นเก่าหวงอำนาจ แต่ถ้าได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็จบ แล้วถ้าเขาร่างมาแล้วเหมือนฉบับปัจจุบัน ผมก็ต้องยอมรับเหมือนกันเพราะประชาชนเขาจะเอาอย่างนั้น ทั้งนี้ตนเห็นว่าจะเป็นทางลงที่สง่างามของรัฐบาลที่เคยยึดอำนาจมา แก้ไขสิ่งที่คนต่อว่าก็จะได้รับคำชื่นชม จะดันไปจนกว่าจะตีกันไปข้างแบบนี้ไม่มีประโยชน์
“ทั้งหมดต้องโยนกลับไปประชาชน ถ้าเรามองว่าประชาชนคือเจ้าของอำนาจ เขาเอาอย่างไรเราจบตามนั้น แต่ระหว่างเขาร่างไม่ใช่ว่าทุกคนไปนั่งดู เขารับฟังความคิดเห็นก็ไปให้ความคิดเห็นอะไรต่างๆ ได้เต็มที่ เพียงแต่อย่างเดียวว่าอำนาจรัฐอย่าไปเกี่ยวข้อง ตามสบาย พอมัน Free and Fair คือเสรีและเป็นธรรมหมดไม่มีใครว่าใครได้ แล้วเราจบแบบนี้ แล้วผมเชื่อว่าถ้าเรามีฉบับนี้ขึ้นมาทหารก็ไม่กล้ายึดอำนาจง่ายๆ อีกต่อไป เพราะมันไปฝืนประชาชนทั้งหมด” โภคิน กล่าว
โภคิน กล่าวต่ออีกว่า ถ้าพูดกันเล่นๆ ว่าถ้านายกรัฐมนตรีลาออกแล้วพรรคฝ่ายค้านจะได้เป็นรัฐบาล ตนก็จะไม่ยอมให้พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมหากไม่มี ส.ส.ร. เพราะเป็นรัฐบาลไปก็บริหารประเทศไม่ได้ เป็นไปก็เจ๊ง เพราะกลไกในรัฐธรรมนูญมันพิลึก มองง่ายๆ ว่ากฎหมายที่ไม่จำเป็นขัดขวางการทำมาหากินต้องแก้ไข ส.ส. ก็ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ยังไม่ผลักดันกฎหมายเลย ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ กลับมาแทนที่นโยบายของรัฐบาล รัฐบาลไม่ได้ทำนโยบายของตัวเองแต่เอาพวกนี้มารวมเฉยๆ
โภคินกล่าวว่าวิธีที่จะเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ประการแรกคือการดึงเวลาในวาระ 2 ชั้นกรรมาธิการให้พิจารณาไม่เสร็จ แต่สังคมจับตามองก็น่าจะทำยาก และถ้าจะล้มก็คือไม่โหวตให้ผ่านในวาระที่ 3
ประการที่ 2 คือ การทำประชามติ ซึ่งรัฐบาลอาจจะอ้างได้ว่าไม่มีกฎหมายประชามติ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมต้องไปทำประชามติ ซึ่งความจริงมันเดินไปได้ ปัญหาสำคัญคือผู้บริหารประเทศต้องเชื่อว่าประชาชนฉลาดพอที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองเลือก ถ้าเลือกรัฐบาลแล้วไม่ดี ครั้งหน้าเขาก็เลือกใหม่ ไม่ต้องห่วงว่าคนจะทำมาหากินไม่เป็น แต่รัฐธรรมนูญต้องไม่ขัดขวางการทำมาหากินของประชาชน
ปิยบุตร กล่าวว่า อำนาจรัฐอยู่ในมือรัฐบาลโอกาสที่จะเตะถ่วงยังเป็นไปได้เสมอ แต่ตนก็หวังว่ารัฐบาลจะไม่ปิดหูปิดตาว่ามีเสียงเรียกร้องของประชาชนมากขึ้น และถ้ายิ่งเตะถ่วงก็จะยิ่งเติมเชื้อไฟ แต่ถ้าจะป้องกันการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเหมือนฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็สามารถเขียนไปได้ให้หมวดแก้ไขเพิ่มเติมว่าต้องร่างให้เสร็จภายในกี่วัน หรือถ้าไม่เสร็จให้เอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้
เมื่อถามถึงข้อเสนอยุบสภา โภคิน ตอบว่า ถ้ายุบสภาตอนนี้ไปเลือกตั้งใหม่ก็จะได้กลไกแบบเดิมกลับมาใหม่หมดทุกอย่าง แล้วก็ต้องมานับหนึ่งใหม่ แล้วถ้าจะตั้งรัฐบาลก็ต้องมีเกือบ 30 พรรค ต้องอาศัยคนที่คุม ส.ว.ได้จึงจะอยู่ได้ หรือถ้าฝ่ายประชาธิปไตยได้คะแนนข้างมากก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ หรือถ้าตั้งได้ก็บริหารประเทศไม่ได้ เพราะองค์กรอิสระและศาลไม่ได้อยู่ข้างประชาธิปไตย เป็นอุปสรรคเต็มไปหมด จึงต้องจัดความสำคัญว่าข้อไหนที่จะไม่มีใครได้เปรียบ และถ้าตั้ง ส.ส.ร.แล้วจะยุบสภาก็ไม่เป็นไร เพราะคนรู้ว่าอีกหน่อยก็จะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้ว หรือแม้ว่าจะมีคนเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกแล้วเป็นรัฐบาลรักษาการเพื่อให้ไม่มีอำนาจเต็ม แต่ปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้แบบชั่วคราวให้หมุนไปเรื่อยๆ ยิ่งเสียเวลา สู้แก้ทีเดียวไม่ได้
ปิยบุตร กล่าวว่า การยุบสภาเอาไว้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเมื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง หรือผ่าทางตัน ดังนั้นยุบสภาจะมาคู่กับการเลือกตั้ง แต่ถ้ายุบสภาตอนนี้ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่ตอบโจทย์เหมือนเดิม พรรคเสียงข้างมากไม่ได้ตั้งรัฐบาล ตัวบิดผันการตัดสินใจของพรรคการเมืองคือ ส.ว. ยุบสภาไปก็วนอยู่ที่เดิม ตนจึงต้องการถอนอำนาจการโหวตนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ออกไปก่อน
เมื่อมองถึงบรรยากาศของสังคมไทยในปัจจุบันเปรียบเทียบกับปี 2535 ที่จัดตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
ปิยบุตร เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นตนกำลังจะเข้าเรียนปี 1 บรรยากาศตอนนั้นมันคนละเรื่องกับตอนนี้ คนมีฉันทามติร่วมกันแล้วว่าไม่เอาทหารเข้ามาในการเมือง ต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ต้องการสิทธิเสรีภาพประชาชน ต้องการองค์กรตรวจสอบรัฐบาล ตอนนั้นสะดวกมาก ใครค้านตกขบวนล้าสมัย นักการเมืองหลายคนบอกไม่รับรัฐธรรมนูญ 2540 แต่เจอแรงกดดันจากสังคมก็รับ แต่ตอนนี้ยังหาจุดนั้นไม่เจอ อย่างที่ตนและโภคินพยายามเชิญชวนว่าทางนี้เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ก่อนที่บ้านเมืองจะไปสู่ทางตัน เป็นทางลงที่ทุกฝ่ายจะไม่ได้อะไรหมด แต่ก็จะไม่เสียอะไรหมด ประเทศชาติไม่พังทลาย ทุกฝ่ายจะได้คนละนิดหน่อยเพื่อเอาบ้านเมืองไปต่อให้ได้ ส่วนเรื่องของ ส.ส.ร. หน้าตาจะเป็นอย่างไรอันนี้ถกเถียงกันในรายละเอียดได้
ปิยบุตร กล่าวอีกว่า อย่างที่บอกคือรัฐธรรมนูญ 2540 มาจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 คือต้องมีคนเจ็บคนตาย แต่รอบนี้ ถ้ากงล้อจะหมุนไปแบบเดิม ทุกคนอ่านออกล่วงหน้า แล้วจะไปสู่จุดนั้นทำไม ทำไมไม่ถอดชนวนออกก่อน ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะอยู่ในอำนาจต่อ และลงอย่างสง่างามในอนาคต การชุมนุมเรียกร้องก็จะบรรเทาเบาบางลง และอีก 1-2 ปีก็จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คนจะเข้ามาแข่งขันในกติกาที่ทุกคนยอมรับกันได้หมด
ขณะที่ โภคิน เล่าว่า การปฏิรูปการเมืองในตอนนั้นมาจากปัญหาพฤษภาทมิฬ ประชาชนปฏิเสธอำนาจเผด็จการทหาร แนวคิดเรื่องการปฏิรูปการเมืองเริ่มตกผลึก วันนี้ทุกคนลุกขึ้นมาว่าไม่เอาอำนาจเผด็จการ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนคือกำลังประจันหน้ากันอยู่ ดังนั้นเราจึงต้องขอร้องว่าฝ่ายที่ถูกต่อว่าว่าเป็นเผด็จการ ให้หันมาทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ร่วมกันทุกฝ่ายด้วยการยอมรับของประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะสืบทอดอำนาจใคร แต่ขอให้การเลือก ส.ส.ร. เสรีและเป็นธรรม ตอนนี้กำลังเริ่มแต่ถ้าเรารอให้จบซึ่งไม่รู้แบบไหน มันจะเกิดสงคราม เพราะถ้าทุกคนรู้ว่าจะหยุดอย่างไรก็ไม่หยุด จะไม่มีใครได้อะไร สู้วันนี้เดินหน้าร่วมกันไปเลยแล้วจบตามระบบ แต่เรื่องที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะไม่เป็นไปตามอย่างที่คาดหวัง ตนเห็นว่ามันขึ้นอยู่กับความสมดุลให้อยู่ในกรอบเดียวกันที่วางด้วยกัน ไม่มีใครตามใคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง