ไม่พบผลการค้นหา
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ในสัปดาห์หน้าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ต่อแถวจากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ

ทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.เลือกตั้ง) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 

แต่ไฮไลท์อยู่ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้ง ที่มีสูตรการคิดคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันเป็นจุดชี้เป็น ชี้ตายทางการเมืองของพรรคขนาดเล็กอยู่ในนั้น 

ไม่แปลกที่ กลุ่มพรรคเล็กบุกมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ฐานบัญชาการการเมือง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อขอคำชี้แจงเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

นำโดย ปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน เป็นตัวแทนกลุ่มพรรคเล็ก 

โดยพรรคเล็กเสนอว่า ควรใช้การคำนวณหาร 500 และพล.อ.ประวิตร ให้คำตอบว่าไม่มีปัญหา จะหาร 500 หรือหาร 100 ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) จะไปพูดคุยกัน

เมื่อแอคชั่นถูกโยนมาที่ผู้กุมอำนาจ “พล.อ.ประวิตร” จึงตอบว่า “ตอบไปแล้วเป็นเรื่องคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จะมายื่นอะไรกับตนเอง เป็นเรื่องของสภาให้ กมธ.เขาว่าไป”

ส่วนจะหนุนสูตรคำนวณหาร 100 หรือ 500 พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไม่รู้ อันนั้นจะไปรู้ได้อย่างไร ต้องไปถามสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ”  

แล้วแบบไหนจะเป็นผลดีต่อพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตรตอบว่า "ผมไม่รู้ อะไรก็ได้ ได้หมดแหละ"

ประวิตร.jpeg

เรื่องของเรื่องที่เป็นปมร้อนระหว่างสูตรหาร 100 กับ หาร 500 แบบไหนที่จะเป็นประโยชน์กับการสืบทอดอำนาจของ “ระบอบประยุทธ์” มากกว่ากัน 

ต้องย้อนความไปถึงความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนจากบัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่สุดแล้ว รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ถูกแก้เป็น รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) 2564 ด้วยความเชื่อที่มีในตอนนั้นว่า พรรคพลังประชารัฐ กำลัง “ซ้ำรอย” พรรคเพื่อไทย 

เพราะกติกาบัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกได้ทั้งคน-ทั้งพรรค ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้สูตรหาร 500 (จำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภา) เพื่อหาจำนวน ส.ส.พึงมี ของแต่ละพรรค เมื่อพรรคไหนได้ ส.ส.เขตมากก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยตามสัดส่วนพึงมี พรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส.มากที่สุด 137 เสียง จึงไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว 

ส่วนกรณีของพรรคเล็ก เมื่อคำนวณแล้วมีเศษเหลือ แล้ว ส.ส.ในสภาไม่ครบ 500 คน ก็มอบ ส.ส.ปัดเศษให้พรรคเล็กๆ ที่ได้คะแนนถึงเกณฑ์ แต่ไม่ได้ ส.ส.เขต ทำให้พรรคเล็กจึงชอบสูตรนี้ 

พรรคเล็ก พรรคชาติไทยพัฒนา รัฐสภา DC122F38-747D-48E4-92C9-3ED6211ED128.jpegปรีดา พรรคเล็ก ครูไทยเพื่อประชาชน -7A83-43D0-9951-95E68FFAB14C.jpeg

ที่สำคัญยังนับ “คะแนนตกน้ำ” หมายถึง พรรคที่เก็บคะแนนเลือกตั้งเยอะ แม้ไม่ได้ชนะเป็นที่ 1 ในเขตเลือกตั้ง แต่ทุกคะแนนที่ได้ไม่ว่าอยู่อันดับไหนก็จะถูกนำนับรวมเพื่อหาจำนวน ส.ส.พึงมี กรณีนี้เกิดกับ พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ ส.ส.มากถึง 80 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 30 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 50 คน 

ด้วยเหตุนี้ พรรคพลังประชารัฐ จึงกลัว “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” พรรคเพื่อไทย ที่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว จึงพยายามแก้ไขกติกาบัตรเลือกตั้งให้เป็น 2 ใบ และเปลี่ยนจำนวน ส.ส.เขตจากเดิม 350 คน เป็น 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 150 คน เป็น 100 คน

แต่ระหว่างนั้นการพิจารณาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเอาบัตรใบเดียวหรือบัตร 2 ใบ หรือบัตรใบเดียวตามเดิม ปรากฏว่า สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไปเร็ว คะแนนนิยมรัฐบาลตกวูบ แฟลชม็อบ ถูกพัฒนากลายเป็น ม็อบคนรุ่นใหม่ และหากแก้กติกาให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทุกอย่างอาจเข้าทางพรรคเพื่อไทย 

เพราะในกติกาบัตร 2 ใบ จะย้อนไปสู้ระบบเดิม คือ “สูตรหาร 100” (สัมพันธ์ทางตรงกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน) เมื่อตอนเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 ที่พรรคเพื่อไทย แลนด์สไลด์ และมีนายกรัฐมนตรี ชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” 

ประยุทธ์ อนุพงษ์  สกลนคร-B4C1-4B91-85F0-7801DD86A128.jpeg

บรรดาลุงๆ ที่เป็นผู้มีอำนาจในทำเนียบรัฐบาล เล่นเกมสั่นประสาทกันไปมาว่าจะส่งสัญญาณแบบไหนไปยัง ส.ว.250 คน ที่จะเป็นเสียงสำคัญตอนโหวตสุดท้าย 

และสัญญาณสุดท้ายก็ล็อกมาที่ “บัตร 2 ใบ” เห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

แต่บังเอิญว่า ตัว “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม” ดันเป็นร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอแก้เพียงเล็กน้อย ไม่มีขั้นตอนในการปฏิบัติ หวังจะใช้เป็น “ร่างประกบ” ในการลงมติว่าจะเลือกเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาพิจารณาต่อ ปรากฏว่า ส.ว.กลับเล่นเกม คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด 12 ร่าง ทิ้งไว้แค่ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ร่างเดียว 

ปัญหาใหญ่จึงเกิดขึ้น ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ แก้ไขเพิ่มเติมเพียง 3 มาตรา (ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง) 29, 43, 46 คิดง่ายๆ ว่าแก้เฉพาะบัตรเลือกตั้งบัตรใบเดียวให้เป็นบัตร 2 ใบ กับจำนวน ส.ส.เขต 400 คน และ บัญชีรายชื่อ 100 คน ทั้งที่ร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทย หรือ พลังประชารัฐ มีความสมบูรณ์มากกว่า 

เมื่อถึงคราวลงมือแก้ไขกันจริงๆ ปรากฏว่า มีมาตราที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติม มากกว่า 3 มาตรา โดยเฉพาะคำว่า “พึงมี” อันเป็นสัญลักษณ์ของระบบบัตรใบเดียว ครั้นกรรมาธิการจะไปตัด “ไส้ติ่ง” ตรงนี้พรรคเล็กก็ขู่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะอาจจะเป็นการแก้ไขที่เกินหลักการ 

และสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญ บัตร 2 ใบ ก็ถูกบังคับใช้ โดยที่ยังมีคำว่า “พึงมี” เป็นไส้ติ่งต่อไป 

ประยุทธ์ เลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง _1F02PO.jpg


สมาชิกวุฒิสภา รัฐสภา 5E871DBA-9501-4FE7-A6F2-9C75B73A3493.jpeg

ตัดภาพมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องบัตรสองใบมีผลบังคับใช้ ก็เข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายลูก ทั้ง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง คือกฎหมายลูก

ปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐ ถึงคราวต้องตัดสินใจว่าการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะเลือกสูตรไหน ระหว่างหาร 100 ซึ่ง ส.ว.สายประยุทธ์ ไม่เห็นชอบ เตรียมยกมือโหวตคว่ำ เพราะคำว่า “พึงมี” ยังปรากฏเป็น “มรดก” ตกทอดอยู่ในกฎหมายแม่ อย่าง รัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น ส.ว.สายประยุทธ์จึงเห็นควรใช้สูตรหาร 500 

แต่อีกด้านหนึ่ง จนถึงตอนนี้พรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทย ก็หัวเด็ดตีนขาดว่า ต้องเลือกหาร 100 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ได้เพิ่มคำว่า “สัมพันธ์ทางตรง” กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนไว้แล้ว ถ้าเลือกสูตรหาร 500 ก็ขัดรัฐธรรมนูญเหมือนกัน 

จึงวนกลับมาที่คำตอบของ “พล.อ.ประวิตร” ที่ว่า "ผมไม่รู้ อะไรก็ได้ ได้หมดแหละ"

การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ จึงไม่อาจพลาดได้ด้วยประการทั้งปวง 

ขึ้นกับสัญญาณสุดท้ายว่าจะเลือกสูตรหาร 500 หรือ 100 หรือที่สุดแล้วอาจจะต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดอีกครั้ง