(บทสัมภาษณ์เผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ VOA THAI วันที่ 21 ส.ค. 2563 โดยใช้ชื่อว่า อเมริกันมองไทย: เสียงเรียกร้องคนรุ่นใหม่-การเมืองไทยยุค "ปลดแอก")
“ตอนที่เห็นนักเรียนนักศึกษาออกมาไม่ได้คิดว่าจะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เพราะไม่มีความเชื่อในพลังของประชาชน แต่เพราะว่ามีความเป็นห่วงว่ารัฐจะใช้วิธีการปราบปรามที่ใช้ในหกปีที่ผ่านมา”
การชุมนุมใหญ่ในวันที่ 16 สิงหาคม บนถนนราชดำเนินกลาง รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นปรากฎการณ์ที่ ศาสตราจารย์ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) ผู้ศึกษาและทำงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด บอกว่าไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้เห็น ไม่เฉพาะจำนวนผู้เข้าชุมนุมหลักหมื่น แต่ยังเป็นการชุมนุมของคนหลายภาคส่วน ทุกเพศทุกวัย ทั้งในและนอกกรุงเทพ
“ไม่ค่อยมีการรวมตัวแบบนี้ ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็จะนึกถึงช่วง 14 กับ 6 ตุลาที่มีหลาย ๆ กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีจุดยืนของตัวเอง แต่ก็จะเชื่อมเพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ”
การชุมนุมที่เริ่มจาก "แฟลช ม็อบ" (flash mob) ภายในรั้วสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อแสดงออกทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ ในวันนี้ได้กลายเป็นการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนนที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 6 ปีตั้งแต่มีรัฐประหาร โดยมี 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน
ศาสตราจารย์ อัลเลน ฮิคเกน (Allen Hicken) อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน (Michigan University) มองว่ารัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ดี แต่สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่สร้างความไม่พอใจให้สังคมไทย อีกทั้งยังมีผู้ที่อึดอัดคับข้องใจกับบทบาทของกองทัพในการเมือง การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 และการยุบพรรคอนาคตใหม่
กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ประชาชนปลดแอก” ที่พัฒนามาจาก "เยาวชนปลดแอก" ได้เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา
ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ซึ่งมีผลงานเขียนเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงของรัฐและผู้มีอำนาจ มองว่าการคุกคามของรัฐยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง มีการหายตัวไปในรูปแบบต่าง ๆ ของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น กรณีการลักพาตัว วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในประเทศกัมพูชาเมื่อเดือนมิถุนายน ตลอดจนการใช้อำนาจรัฐปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย
"สิ่งที่เห็นตั้งแต่รัฐประหาร ที่จริงก็เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารเหมือนกัน แต่เกิดขึ้นบ่อยมากหลังจากรัฐประหาร คือการที่รัฐเผด็จการใช้กฎหมาย ยัดข้อกล่าวหากับคนที่ออกมาชุมนุมหรือวิจารณ์รัฐบาล ช่วงรัฐบาล คสช. จะเห็นว่าหลาย ๆ ครั้งจะใช้เพื่อหยุดขวางการประท้วง"
ศาสตราจารย์ไทเรล เคยใช้เวลาในประเทศไทยในฐานะนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย จนสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว กล่าวต่อว่ารัฐใช้วิธีส่งเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร ไป "พูดคุย" กับผู้ที่เห็นต่าง
"ในกรณีนิสิต นักศึกษา จะส่งไปคุยกับผู้ปกครอง ญาติ อันนี้ก็เป็นวิธีการกดดันที่มีพลังพอสมควร ทุกคนรู้ว่าตำรวจน่ากลัวแต่พ่อแม่ยิ่งน่ากลัวกว่า หรือส่งไปคุยกับครู หรือ ผอ. ที่โรงเรียน มันไม่ concrete (เป็นรูปธรรม) เท่าข้อกล่าวหา แต่เป็นสิ่งที่ทำให้พื้นที่สำหรับความคิดเห็นมันแคบลงแน่ ๆ...เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัว จริง ๆ ก็เป็น 'อำนาจมืด' ชนิดหนึ่งที่เขาพูดถึง”
ประเด็นที่มีการพูดถึงและสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมประเด็นหนึ่ง คือการที่มีนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวบางกลุ่มได้เรียกร้องในเวทีสาธารณะ ให้มีการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับบทบาทและอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงข้อเรียกร้อง 10 ประการ ของกลุ่ม ธรรมศาสตร์และการชุมนุม
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน บอกว่าเธอได้ฟังการเสนอข้อเรียกร้อง 10 ประการ ที่อ่านโดย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) นักศึกษาปี 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านช่องทางการถ่ายทอดสดทางโซเชียลมีเดีย
“อย่างที่ อาจารย์ธงชัย วินิจกุล เขียน คือ สิ่งที่คุณปนัสยาพูด ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครพูด มี แล้วก็มีแรงกว่านี้เยอะ แต่คนก็จะพูดในบ้าน เวลาคุยกับเพื่อน และจะใช้คำอื่นเหมือนกัน คนมีวิธีการพูดถึงคนในสถาบันกษัตริย์ในภาษาที่ไม่ตรงไปตรงมา ก็เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์จริง ๆ ที่มีคนออกมาพูด จริง ๆ ก็คิดว่าแถลงการณ์สิบข้อนั้นเป็นการเชิญประชาชนและคนทั่วประเทศคุยกันเรื่องนี้ เป็นการชวนคนมีส่วนร่วมในการวางแผนอนาคต...ก็คิดหลายครั้ง ก็กลับไปอ่านรัฐธรรมนูญในตอนนี้ และรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วก็คิดว่าสิ่งที่นักศึกษาเรียกร้อง มันเป็นสิ่งที่ถูกตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีข้อสงสัยเลยนะคะ”
ด้าน ศาสตราจารย์อัลเลน ฮิคเกน บอกว่าจากนี้ไปคงต้องจับตาดูว่าข้อเสนอเหล่านี้จะได้รับแรงสนับสนุนจากผู้ชุมนุมกลุ่มอื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน จากการที่เขาติดตามข่าว พอจะเห็นได้ว่า ผู้ชุมนุมบางกลุ่มมองว่าการผลักดันประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัติรย์มากจนเกินไป จะทำให้สูญเสียมวลชน ด้วยความที่สังคมไทยยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่สูง ในขณะเดียวกันกลุ่มที่ออกมาประกาศปกป้องสถาบันก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ไทเรล มองว่าการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาไทย สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวในหลายประเทศทั่วโลก ที่เยาวชนคนหนุ่มสาวเป็นผู้มีบทบาทในการออกมาพูดและเรียกร้องในสิ่งที่คนรุ่นก่อน ๆ ไม่กล้า
"ครั้งนี้ สิ่งที่นักศึกษาและประชาชนกำลังเรียกร้อง คล้าย ๆ กับสิ่งที่คนอื่น ๆ กำลังเรียกร้อง คิดว่ามีคนอื่นทั่วโลกที่พร้อมจะสนับสนุนเหมือนกัน และพร้อมจะประณามว่าการใช้ความรุนแรงและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อคน"
ก่อนหน้านี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้งคำถามว่ามีคนอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของเยาวชนหรือไม่ และย้ำถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน มีการเตือนไม่ให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ และเรียกร้องให้ยุติการแบ่งฝักฝ่าย แต่พลเอก ประยุทธ์ ไม่ได้มีการพูดถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาแต่อย่างใด
"ไม่เชื่อว่า ประยุทธ์พร้อมที่จะลงออกจากอำนาจ แต่คิดว่าการที่เขาจะดูถูก หรือจะไม่ยอมคุย ไม่แสดงความเคารพชนิดหนึ่ง ก็คิดว่าเขาทำไม่ได้แล้ว"