ไม่พบผลการค้นหา
2 นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันนำข้อมูลสถิติย้อนหลัง 21 ปี มาเปรียบเทียบราคาค่าบริการ-ค่าแรงกับเงินเฟ้อ แล้วพบว่าธุรกิจที่มีเงินเฟ้อสูงสุด คือโรงพยาบาลและการศึกษา เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น การศึกษาด้วยโมเดลเศรษฐศาสตร์มีคำอธิบาย

'มาร์ค เจ เพอร์รี' ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากสถาบันกิจการอเมริกัน หรือ American Enterprise Institute เปิดเผย แผนภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ เปรียบเทียบกับค่าแรงเฉลี่ยรายชั่วโมงในสหรัฐอเมริกา และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในสหรัฐอเมริกา โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2540 - ธ.ค. 2560 หรือเกือบ 21 ปี

ซึ่งพบว่า ในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นถึง 55.6% และมีเพียงราคาค่าอาหาร เครื่องดื่ม และที่พักอาศัย ที่สูงขึ้นใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ ค่าแรงในสหรัฐฯ เพิ่มสูงกว่าเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ถึง 100%

แตกต่างจากค่ารักษาพยาบาลที่มีราคาพุ่งสูงสุดมากกว่า 200% ค่าตำราและค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยสูงเกือบ 200% รองลงมา เป็นค่ารับเลี้ยงเด็กและค่าบริการทางการแพทย์

ส่วนอุตสาหกรรมที่ราคาค่าสินค้าและบริการตกลงหรือไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนักจะเป็นอุตสาหกรรมผลิตสินค้าต่างๆ เช่น โทรทัศน์ ในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา ราคาตกเกือบ 100% รองลงมาเป็นของเล่น ซอฟต์แวร์ และค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนราคารถยนต์ สินค้าตกแต่งบ้าน และเสื้อผ้าไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

ธุรกิจที่รัฐควบคุมดูแล เหตุใดจึงราคาแพง?

'เพอร์รี' อธิบายว่าสินค้าและบริการที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาลและค่าเล่าเรียน ต่างเป็นธุรกิจที่มีรัฐบาลควบคุมดูแลหรือให้การสนับสนุนด้านงบประมาณอยู่ ส่วนสินค้าที่มีราคาถูกลง เช่น เสื้อผ้าและโทรทัศน์เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันเสรี เป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ตอกย้ำกลไกทางเศรษฐศาสตร์อีกครั้งว่า "ระบบทุนนิยมทำให้สินค้ามีราคาถูกลง ขณะที่ระบบสังคมนิยมกลับทำให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น"

ขณะที่ 'วิลเลียม โบมอล' นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันอธิบายแนวคิด Cost Disease หรือการกระจายต้นทุน โดยชี้ว่าการปรับฐานเงินเดือนของแรงงานในธุรกิจหนึ่งที่ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านผลผลิต กลับไปเพิ่มเงินเดือนของคนที่อยู่ในอีกธุรกิจหนึ่งที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เช่น โรงงานที่นำเทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการผลิตจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้โรงงานนี้สามารถขึ้นค่าแรงของพนักงานได้ ขณะเดียวกัน ก็สามารถตัดลดค่าใช้จ่ายจ้างพนักงานในส่วนงานที่มีเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนได้ด้วย ดังนั้น บริษัทนี้จึงไม่ต้องขึ้นราคาสินค้า เพราะสามารถเฉลี่ยต้นทุนได้ แต่หากอุตสาหกรรมนั้นไม่สามารถหาเทคโนโลยีอะไรมาทดแทนมนุษย์ได้ ย่อมมีต้นทุนค่าแรงสูง และก็จำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าหรือค่าบริการไปตามต้นทุนที่แบกรับด้วย


รถยนต์

โบมอล นำแนวคิดเรื่อง Cost Disease มาอธิบายเป็นแผนภาพการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า เพื่อให้เข้าใจว่าเมื่อโลกพัฒนาเทคโนโลยีไปอย่างรวดเร็ว สินค้าประเภทรถยนต์ สมาร์ทโฟน หรือเสื้อยืดจะมีราคาถูกลง ขณะที่ บริการที่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา การเลี้ยงเด็ก หรือการตัดผมจะมีราคาสูงขึ้น ซึ่งสภาพการณ์เหล่านี้ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ แต่อย่างใด

แม้บางคนจะมองว่าสินค้าและบริการที่มีการควบคุมราคากลับทำอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่อีกด้านหนึ่ง ราคาของกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เช่น การเข้าค่ายฤดูร้อน ค่ารักษาพยาบาลสัตว์ และค่าบัตรชมละครบรอดเวย์ ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งที่ธุรกิจเหล่านี้ไม่มีนโยบายรัฐมาควบคุมหรือแทรกแซง

"มนุษย์" ยังจำเป็นในธุรกิจบริการ และควรได้รับค่าแรงที่เหมาะสม

คำอธิบายของ 2 นักเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว จึงบ่งชี้ว่า ค่าสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมที่มีราคาสูงขึ้นในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา ล้วนเป็นสินค้าและบริการที่ใช้ 'แรงงานมนุษย์จำนวนมหาศาล' แม้การพัฒนาหุ่นยนต์จะเก่งกาจขนาดไหน แต่ผู้ซื้อสินค้าและบริการก็ยังไม่ไว้ใจให้หุ่นยนต์เลี้ยงลูกแทน หรือแม้เทคโนโลยีสื่อการสอนจะล้ำสมัยขนาดไหน แต่พ่อแม่ก็ยังต้องการให้ครูคอยแนะนำลูก หรือแม้วันหนึ่งอาจมีการพัฒนาโปรแกรมวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ แต่ผู้ป่วยก็ยังต้องการให้แพทย์อธิบายอาการเจ็บป่วย และอธิบายขั้นตอนการดูแลรักษาตัวเองอยู่

ดังนั้น ทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อบริการเหล่านั้นก็สมควรได้รับค่าแรงที่เหมาะสมด้วย


ที่มา: AEI, Vox