องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ รณรงค์ให้บริโภคนม ระบุใน Milk and dairy product in human nutrition ว่า นมและผลิตภัณฑ์นมสำคัญต่อโภชนาการที่ดีของคนตลอดช่วงชีวิต โดยเฉพาะในวัยเด็ก นมนับเป็นหนึ่งในอาหารที่มีประเด็นกันว่าตกลงแล้วดีหรือไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ไม่ว่าอย่างไรในโภชนบัญญัติของเกือบทุกประเทศมีนมบรรจุไว้ในหมวดหมู่ของอาหารหลัก เนื้อสัตว์ นม ไข่ เป็นแหล่งของโปรตีนที่มีความสำคัญ ซึ่งมีมากจนต้องมีการรณรงค์ให้ทุกวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันดื่มนมโลก
ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการ ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยืนยันว่า FAO มีการรณรงค์ให้มีการบริโภคนมทุกภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งได้ระบุใน Milk and dairy product in human nutrition ว่า นมและผลิตภัณฑ์นมสำคัญต่อโภชนาการที่ดีของคนตลอดช่วงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็ก เพราะมีส่วนทำให้เด็กเติบโตและแข็งแรง ทั้งช่วยให้เกษตรกรโคนมมีรายได้ ซึ่งปัจจุบันมีการควบคุมการผลิต โดยไม่ใช้ฮอร์โมนกระตุ้นตามกำหนดของ Codex ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร FAO/WHO (Codex Alimentarius Commission CAC) มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานอาหารให้เป็นมาตรฐานสากล
การดื่มนมควรดื่มในทุกเพศทุกวัย การเลือกดื่มนมรสจืดดีที่สุด นมรสจืดดีกว่านมปรุงแต่งรส ในการเลือกดื่มนมและผลิตภัณฑ์นม ขอให้อ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์ ว่ามีน้ำนมโคสดแท้กี่เปอร์เซนต์ เลือกกินผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำนมโคสดแท้ที่เปอร์เซนต์สูงกว่าจะได้รับสารอาหารจากนมมากกว่า เด็กก่อนวัยเรียน 1 ปีขึ้นไปและวัยเรียน ควรดื่มนมรสจืด 2 แก้ว ต่อวัน ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง เด็กควรดื่มนมครบส่วน ไม่ควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนยหรือไร้ไขมัน เพราะมีแหล่งพลังงานคือไขมัน และวิตามินเอ ดี อี เค ซึ่งละลายในไขมัน
วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ แนะนำให้ดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้ว เพื่อให้ได้รับธาตุแคลเซียมเพียงพอ ป้องกันภาวะกระดูกพรุน ผู้ที่มีปัญหาภาวะไขมันเลือดสูง ควรเลือกดื่มนมรสจืดพร่องมันเนยหรือนมไร้ไขมัน หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรควรดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้ว และบริโภคปลาเล็ก ปลาน้อย 2 ช้อน กินกับข้าว และผักใบเขียวเข้ม 4 ทัพพี หรือเต้าหู้แข็ง 1 แผ่นเพิ่ม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระดูกทั้งมารดาและทารกในครรภ์ องค์การอนามัยโลก (WHO) สนับสนุนให้ทารกได้รับนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรก หลังจากนั้นให้อาหารตามวัยที่เพียงพอและเหมาะสมควบคู่กับนมแม่ต่อเนื่องนาน 2 ปี หรือมากกว่านั้น