ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยจากออสเตรเลียและสหรัฐฯ กำลังเริ่มดำเนินการโครงการมูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อการชุบชีวิตเสือแทสมาเนียกลับขึ้นมาจากการสูญพันธุ์อีกครั้ง ทั้งนี้ เสือแทสมาเนีย หรือไทลาซีนตัวสุดท้ายที่มีการบันทึกถึง มีชีวิตอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 1930

ไทลาซีน ซึ่งแปลว่า มีหัวเหมือนสุนัขและมีกระเป๋าหน้าท้อง หรือที่คนรู้จักกันในชื่อเสือแทสมาเนีย หรือหมาป่าแทสมาเนีย อาจจะถูกชุบชีวิตกลับมาอีกครั้ง โดยนักวิจัยเปิดเผยว่า มันอาจกลับมาวิ่งบนผืนโลกอีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ และเทคโนโลยีการแก้ไขยีน

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มดังกล่าวระบุว่า ไทลาซีนอาจกลับมาชีวิตและนำกลับคืนสู่ป่าได้อีกครั้งภายในระยะเวลา 10 ปี ในทางตรงกันข้าม ผู้เชี่ยวชาญอีกฝ่ายมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งไม่น่าเชื่อ และการฟื้นคืนชีวิตจากการสูญพันธุ์อาจเป็นเรื่องแค่ในนิยายวิทยาศาสตร์

ไทลาซีน หรือ เสือแทสมาเนีย ซึ่งถูกตั้งชื่อตามลายทางบนหลังของมันนี้ จริงๆ เป็นเพียงแค่สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องชนิดหนึ่ง โดยมันเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเลี้ยงลูกของตัวเองด้วยกระเป๋าหน้าท้องของมัน ทั้งนี้ ไทลาซีนเคยมีชีวิตอยู่ในออสเตรเลียเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียและสหรัฐฯ วางแผนที่จะนำสเต็มเซลล์จากสปีชีส์สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องที่มีชีวิตอยู่ในตอนนี้ ซึ่งมี DNA คล้ายคลึงกันกับไทลาซีน มาปรับปรุงด้วยเทคโนโลยีการแก้ไขยีนเพื่อทำให้สปีชีส์ที่สูญพันธุ์ไป “ถูกนำกลับมา” จากการสูญพันธ์อีกครั้ง หรือไม่ก็ให้มันมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับไทลาซีนเดิม โดยถ้าหากทำสำเร็จ ความพยายามในครั้งนี้จะกลายเป็นความรุดหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง

แอนดรูว์ พาสค์ ผู้นำการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า "ตอนนี้ผมเชื่อว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะสามารถมีไทลาซีนทารกที่มีชีวิตเป็นครั้งแรกได้ เนื่องจากพวกมันถูกตามล่าจนสูญพันธุ์ไปเมื่อเกือบศตวรรษก่อน" 

ประชากรเสือแทสมาเนียเริ่มหดตัวลดลง เมื่อมนุษย์เข้ามาถึงออสเตรเลียเมื่อหลายหมื่นปีก่อน และหดตัวลงอีกครั้งเมื่อดิงโก ซึ่งเป็นสุนัขป่าพันธุ์หนึ่ง เริ่มปรากฏตัวขึ้นในออสเตรเลีย ก่อนที่ในเวลาต่อมาที่ไทลาซันจะมีอัตราประชากรอยู่อาศัยแค่ในเกาะแทสมาเนีย และถูกตามล่าจนสูญพันธุ์ โดยไทลาซีนตัวสุดท้ายที่มีชีวิตตายลงที่สวนสัตว์โฮเบิร์ตเมื่อปี 2479

หากนักวิทยาศาสตร์สามารถชุบชีวิตไทลาซีนได้สำเร็จ มันจะกลายเป็น “การชุบชีวิตจากการสูญพันธุ์” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกโครงการตั้งข้อสงสัยต่อโครงการดังกล่าวว่า “การชุบชีวิตจากการสูญพันธุ์เป็นเพียงวิทยาศาสตร์ในเทพนิยาย” เจเรมี ออสติน นักวิยาศาสตร์จากศูนย์ Ancient DNA ของออสเตรเลีย ระบุกับ The Sydney Morning Herald ก่อนกล่าวเสริมอีกว่าโครงการนี้ “เน้นไปที่ความสนใจของสื่อสำหรับนักวิทยาศาสตร์มากกว่า และไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่จริงจัง”

แนวคิดในการฟื้นคีนชีพเสือแทสมาเนียนกลับมาอีกครั้งนั้นมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยในปี 2542 พิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียได้เริ่มดำเนินโครงการโคลนสัตว์ ตลอดจนการมีความพยายามในหลายครั้งตั้งแต่นั้นมา ในการสกัดหรือสร้างดีเอ็นเอที่มีชีวิตขึ้นใหม่มาจากตัวอย่าง

ทั้งนี้ โครงการล่าสุดในการชุบชีวิตเสือแทสมาเนียนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นและบริษัท Colossal ในมลรัฐเท็กซัสจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัทจากสหรัฐฯ ที่เคยถูกพาดหัวข่าวถึงเมื่อปีที่แล้ว ถึงแผนการที่จะใช้เทคโนโลยีการแก้ไขยีนที่คล้ายคลึงกัน เพื่อชุบชีวิตแมมมอธขนยาวกลับมามีชีวิตอีกครั้ง


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-australia-62568427?fbclid=IwAR2dOxO4kzK3zQFLlsN_35bn_mrBIEdLZPoAT4bEzrhO2-VJQ-0SP3Xysnw