วันนี้ (26 ม.ค.65) สน.ปทุมวัน ได้ออกหมายเรียกผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม PeopleGOFace'Tival ราษฎร์ธรรมนูญ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ทั้งหมด 12 คน ให้มารับทราบข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยเมื่อช่วงเวลา 09.00 น. บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นักกิจกรรมที่ได้รับหมายเรียก เครือข่ายประชาชน People Go ได้ร่วมกันแถลงจุดยืนให้ตำรวจและรัฐบาลหยุดดำเนินคดีปิดปาก และยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนจะร่วมเดินขบวนไปยัง สน.ปทุมวัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมาร่วมสมทบให้กำลังใจ โดยในช่วงบ่ายชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจำนวน 37 คน จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ วางสิ่งของบนทางสาธารณะ และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน สืบเนื่องจากการชุมนุมเพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 64
เมื่อไปถึง สน.ปทุมวัน มีการเจรจาขอให้ประชาชนได้เข้าไปจัดกิจกรรมเสวนาระหว่างนั่งรอผู้ต้องหาแต่ละคนรายงานตัว แต่ตำรวจ สน.ปทุมวันยืนยันว่า อนุญาตให้เพียงผู้ต้องหาเข้าไปบริเวณ สน.เท่านั้น หลังจากพยายามเจรจาอยู่สักพักหนึ่ง เครือข่าย People Go จึงตัดสินใจจัดกิจกรรมตามที่ตั้งใจไว้บริเวณถนนหน้า สน.ปทุมวัน โดยผู้ต้องหายืนยันว่าพวกตนมาตามนัด แต่ถ้าตำรวจไม่ให้ประชาชนเข้าไปรอภายในบริเวณ สน.ก็จะไม่เข้าไปรายงานตัว
เครือข่ายประชาชน People GO Network เรียกร้องให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจนำข้อกำหนดเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาดำเนินคดีต่อผู้ที่ใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายสร้างภาระให้กับคนที่แสดงความเห็นต่างจากรัฐ และเป็นการ "อ้างโควิด ปิดปากประชาชน"
นอกจากกรณีผู้ต้องหาทั้ง 12 คน จากการเข้าร่วมกิจกรรม PeopleGOFace'Tival ราษฎร์ธรรมนูญ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.64 และชาวบ้านจะนะจำนวน 37 คน และนักศึกษา 1 คน จากกรณีการสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.64 ที่ผ่านมามีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมด้วยข้อหา ‘ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ เกือบ 1,400 คน โดยเป็นคดีมากกว่า 600 คดี
นิมิตร์ เทียนอุดม ในฐานะเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการแถลงการณ์ในวันนี้ว่า พื้นฐานของเสรีภาพคือการที่เรามีพื้นที่ที่จะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง และความคิดเห็นที่แตกต่างนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ถ้าเราไม่มีพื้นที่ในการแสดงความเห็นต่าง เราจะอยู่กันอย่างไร วันนี้พวกเราต้องไปรายงานตัวตามหมายเรียกของสน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นหมายเรียกที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น มันเป็นเสรีภาพพื้นฐานที่เราจะแสดงความคิดเห็น
ด้านยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า เราหวังว่าเราจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะถูกดำเนินคดีนี้ แล้วกลับไปใช้ชีวิตปกติกัน กลับสู่ภาวะปกติที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการแสดงออกได้
สำหรับนักกิจกรรม 12 คนที่ได้รับหมายเรียก มีดังต่อไปนี้
1. พริม มณีโชติ
2. ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเขตอุสาหกรรมพิเศษจะนะ
3. ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน หรือ เติ้ล ผู้ทำเว็บไซต์วิทยาศาสตร์ spaceth.co
4. พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้เคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
5. จุฆามาศ ศรีหัตถผดุง หรือ หญิง ผู้เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่
6. บารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการสมัชชาคนจน
7. วิชชุกร ตั้งไพบูลย์ ศิลปินนักแสดงละคร
8. นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ
9. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw
10. ปรวิทย์ สุขเกษม ศิลปินนักดนตรี
11. ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
12. เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พริษฐ์ ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้วเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 ส่วนบารมี เลื่อนไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 28 ม.ค. 65