คณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการจมน้ำระดับต้นของโลกจากต่างประเทศ และองค์การอนามัยโลก รวม 22 คน จาก 12 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา โคลัมเบีย แคนาดา อาร์เจนตินา เบลีซ ไนจีเรีย อินเดีย ศรีลังกา และบังคลาเทศ โดยในจำนวนนี้มีสื่อมวลชนจากต่างประเทศ 6 คน ร่วมดูงานการป้องกันเด็กจมน้ำและการดำเนินงาน "ผู้ก่อการดี" (Merit Maker) ของไทย ที่อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2461 ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินโครงการ "ผู้ก่อการดี" (Merit Maker) ของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับรางวัลการดำเนินงานอันดับหนึ่งของประเทศ สองปีซ้อน เนื่องจากในช่วงสองปีที่ผ่านมา สามารถหยุดการจมน้ำในเด็กต่ำกว่า 15 ปี ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
ซึ่งคณะดูงานได้เข้าร่วมรับฟังสถานการณ์ และการดำเนินงานโดยรวม พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมการดำเนินการป้องกันเด็กจมน้ำในระดับตำบล ที่ดูแลโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนิคมสร้างตนเองขุนทะเล ที่ให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง ถือเป็นวัคซีนในการป้องกันเด็กจมน้ำทางพฤติกรรม รวมถึงการจัดการในศูนย์เด็กเล็กที่ดำเนินการให้ความรู้แก่เด็กเล็ก ไม่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ไม่ก้มในกะละมัง ไม่เก็บสิ่งของที่ตกในน้ำด้วยตนเอง ผ่านสื่อการสอนรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับวัย นอกจากนั้น ยังเข้าเยี่ยมชมการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน ที่นำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้เป็นอุปกรณ์การช่วยชีวิตกรณีตกน้ำ รวมถึงได้นั่งเรือชมวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำตาปี ที่อาศัยริมฝั่งแม่ซึ่งถือว่าเป็นจุดเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เกิดการจมน้ำได้
โดย Mr.David Meddings เจ้าหน้าที่ World Health Organization จาก Switzerland บอกว่า การดูงานในครั้งนี้ประทับใจ 3 ด้าน คือ เรื่องการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกันเด็กจมน้ำ ที่สามารถลดการเสียชีวิตได้กว่าร้อยละ 50 มีการจัดการที่หลากหลายสอนเด็กในศูนย์เด็กเล็กให้อยู่ในที่เหมาะสม พร้อมฝากถึงชาวสุราษฎร์ธานี ว่าอย่าให้เด็กอยู่ลำพัง เพราะดูแล้วน้ำในแม่น้ำขุ่น ไม่รู้ว่าตรงไหนลึกหรือตื่น ทำให้เด็กจมน้ำได้ง่าย มีความเสี่ยงสูง
เด็กจมน้ำเป็นสาเหตุอันดับ 1 ในกลุ่มเด็กต่ำกว่า 15 ปี
สำหรับสถานการณ์การจมน้ำในประเทศไทย นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งสูงมากกว่าการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่น ๆ ทั้งโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551-2560) เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำแล้ว 9,574 คน เฉลี่ยปีละ 957 คนหรือวันละ 3 คน สถานการณ์การเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำของเด็กไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542-2548 และเริ่มมีแนวโน้มลดลง ภายหลังจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคีเครือข่ายเริ่มดำเนินการในมาตรการต่าง ๆ โดยลดลงมากกว่าร้อยละ 50 นับตั้งแต่ปลายปี 2549 (10 ปีที่แล้วเด็กไทยจมน้ำเสียชีวิตปีละ 1,500 คน ส่วนปี 2560 ลดลงเหลือ 708 คน)
สืบเนื่องจากการดำเนินโครงการ "ผู้ก่อการดี" (Merit Maker) ป้องกันการจมน้ำ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยกระตุ้นให้พื้นที่เกิดการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำแบบสหสาขา ต่อเนื่อง และครอบคลุมในทุกมาตรการ รวมทั้งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ซึ่งมี 10 องค์ประกอบ ได้แก่ นโยบาย การบริหารจัดการ สถานการณ์และข้อมูล การจัดการแหล่งน้ำเสียง การดำเนินการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การให้ความรู้ การเรียนการสอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด การสอนฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) การสื่อสารประชาสัมพันธ์ และการศึกษาวิจัยหรือติดตามประเมินผลผลการดำเนินงาน "ผู้ก่อการดี" ป้องกันการจมน้ำ
ซึ่งระยะเวลา 4 ปี (ปี 2558-2561) พบว่ามีทีม "ผู้ก่อการดี" 3,484 ทีม ครอบคลุม 688 อำเภอ ใน 77 จังหวัด และพบว่าพื้นที่ที่มีการดำเนินงาน "ผู้ก่อการดี" จะมีการจมน้ำเสียชีวิตลดลงเป็น 2 เท่าของพื้นที่ ที่ไม่มีการดำเนินงานผู้ก่อการดี
นอกจากนี้ การดำเนินงานดังกล่าวยังส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ ดังนี้
1.มีการจัดการแหล่งน้ำเสียง 15,501 แห่ง ให้มีการสร้างรั้วหรือติดป้ายคำเดือนและจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้ใกล้แหล่งน้ำเสียง
2.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 12,224 แห่ง ได้รับความรู้ทั้งครูและเด็ก มีการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกศูนย์ฯ รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยสาหรับเด็ก
3.สถานบริการสาธารณสุข ชุมชน โรงเรียน 12,275 แห่ง มีการให้ความรู้ในการป้องกันการจมน้ำแก่ประชาชนและเด็กในพื้นที่อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
4.พื้นที่มีวิทยากรเพื่อสอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 26,596 คน
5.เด็กอายุ 6-14 ปี ได้เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 578,187 คน
6.คนในชุมชน หรือเด็กได้ฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) 267,536 คน โดยเฉพาะสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สามารถดำเนินโครงการได้อย่างดีเยี่ยม ได้ที่หนึ่งของประเทศถึง 2 ซ้อน