ไม่พบผลการค้นหา
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเผยคดี 24 ผู้ต้องหา คนอยากเลือกตั้ง ชุด MBK39 มีมูลการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แต่หากฟ้องไปนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เลยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงกรณีที่อัยการศาลแขวงปทุมวันมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง 24 ผู้ต้องหา คนอยากเลือกตั้ง ชุด MBK39 ที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ แจ้งความข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ว่าได้ตรวจสอบข้อมูล ทราบว่าอัยการเจ้าของสำนวนดังกล่าวคือ นายเกริกเกียรติ รัฐนวธรรม ได้พิจารณาสำนวนที่มีการตั้งข้อหาผู้ต้องหา 33 คน มีการแยกคดีแกนนำ 9 คนไปฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้แล้ว

ในส่วนคดีที่ยื่นฟ้องที่ศาลแขวงปทุมวันมีผู้ต้องหาทั้งหมด 24 คนซึ่งถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมเกิน 5 คนในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯนั้น ทางอัยการเจ้าของสำนวนพิจารณาสำนวนแล้วเห็นว่าคดีมีมูลการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แต่ยังเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวหากฟ้องไปนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เลยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง คดีดังกล่าวได้มีความเห็นไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 วรรคสอง ประกอบกับระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ พ.ศ.2554 อย่างไรก็ตามการสั่งคดีดังกล่าวยังมีขั้นตอนปฏิบัติที่จะต้องส่งสำนวนพร้อมความเห็นดังกล่าว เสนอสำนวนผ่านอธิบดีอัยการคดีศาลแขวง และอัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งคดีคนสุดท้ายตามขั้นตอน

นายประยุทธกล่าวว่า ในส่วนเงื่อนเวลายังไม่มีการกำหนด แต่การดำเนินคดีในศาลแขวงนั้นจะมีระยะเวลาควบคุมอยู่ อัยการจะต้องมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องภายใน 30 วัน เพราะคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงนั้นสามารถผัดฟ้องได้ 5 ครั้ง ครั้งละ 6 วัน จะต้องแล้วเสร็จใน 30 วันตามกฎหมาย

นายประยุทธกล่าวต่อว่า คดีที่พนักงานอัยการเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 วรรคสอง ระบุว่า หากอัยการไม่ว่าสำนักงานใดทั่วประเทศเห็นว่าสำนวนคดีที่อยู่ในการพิจารณาไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะให้มีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีได้ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.อัยการฯ ใหม่ปี 53 เขียนไว้ชัดเจนว่า ความผิดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะนี้ให้ส่งให้อัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งคดีอีกครั้ง หากอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วมีความเห็นสั่งคดีอย่างไรก็ถือเป็นที่สิ้นสุด ก่อนหน้าที่จะมีกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 แนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้ก็มีอยู่ก่อนแล้วในระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ 2547 เรื่องการสั่งไม่ฟ้อง เนื้อหาจะมีลักษณะคล้ายกัน เพียงแต่มาเขียนให้ชัดเจนขึ้นในปี 2553

ทั้งนี้ในส่วนคดีอาญาทั่วไป ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้องก็จะต้องส่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) หรือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค(ผบช.ภ.) ให้ทำความเห็น หากตำรวจยังเห็นแย้งถึงส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด แต่ถ้าเป็นความผิดประเภทคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ กฎหมายเขียนให้อัยการสูงสุดที่มีอำนาจสั่งคดีสูงสุดเป็นคนสั่งคดีเอง จึงไม่ต้องส่งให้ใครทำความเห็นแย้งส่งมาอีก