เมื่อวานนี้ (1 ต.ค.61) ที่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดเชียงใหม่ นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ นำเอกสารหลักฐานเข้ายื่นเรื่องถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ หลังตรวจสอบข้อมูลพบว่าส่อเค้าอาจจะมีการทุจริต เนื่องจากพบมีข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้มีความสนิทใกล้ชิดเป็นการส่วนตัวกับเอกชนที่รับจ้างออกแบบโครงการ และสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการมีความผิดปกติไม่ชอบมาพากล โดยนอกจากยังจะมีการยื่นเรื่องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบ พร้อมทั้งยื่นถึงนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ผ่านทางจังหวัดเชียงใหม่ด้วย
ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ระบุว่า ขณะนี้มีการตรวจสอบพบข้อสงสัยหลายอย่าง โดยเฉพาะการพบว่า นายวิทยา เกื้อกูลธเนศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานออกแบบและก่อสร้างสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นเพื่อนร่วมรุ่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย (อุเทน46) กับ นายวิศัลย์ ศศิธรานนท์ ผู้บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท เกทเวย์ อาร์คิเท็ค จำกัด ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นผู้ออกแบบโครงการ โดยที่การคัดเลือกให้เข้ารับงานจากสำนักงานศาลยุติธรรมดังกล่าวไม่ปรากฏในข่าวสารว่าผ่านการคัดเลือกด้วยวิธีใด
อย่างไรก็ตาม ได้ปรากฏข้อมูลในระบบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอีก 2 รายการ คือ จ้างที่ปรึกษาออกแบบอาคารที่ทำการศาลแขวงธนบุรี (เลขที่สัญญา 79/2554) มูลค่า 3,500,000 บาท และจ้างปรับแบบอาคารที่ทำการศาลฎีกาพร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ (เลขที่สัญญา 91/2558) มูลค่า 9,800,000 บาท ไม่เพียงเท่านั้น ภายหลังการก่อสร้างประสบปัญหาล่าช้า ต้องเปลี่ยนแปลงแบบและรายละเอียดมีบันทึกต่อท้ายสัญญาหลายครั้งและไม่เสร็จตามสัญญาจนต้องต่ออายุให้กับผู้รับเหมาไปอีกประมาณ 3 ปี
โดยเป็นผลมาจากการออกแบบโครงการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและความลาดชัน ซึ่งสะท้อนถึงความผิดพลาดในการกำหนดเงื่อนไขราย ละเอียดของการทำสัญญาว่าจ้างให้ออกแบบในครั้งนี้อย่างชัดเจน ว่ากระบวนการกำหนดเงื่อนไขของงานและการคัดเลือกเอกชนผู้ออกแบบในครั้งนั้นมีข้อพิรุธและยังไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะ
ขณะเดียวกันพบว่าสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการนี้มีการแบ่งเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาแรกทำกันเมื่อ 19 มิ.ย.56 ให้ก่อสร้างบ้านพักระดับประธานและรองฯ จำนวน 9 หลัง บวกกับอาคารชุด 64 หน่วย มูลค่า 342,432,710.28 บาท ขั้นตอนการประกวดราคา มีผู้ซื้อซอง 26 ราย ยื่นจริง 4 ราย ได้บริษัท พี.เอ็น.เอส.ไซน์. จำกัดเป็นผู้ชนะและได้รับคัดเลือกทำสัญญา ซึ่งได้มีการแจ้งรายละเอียดเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐครบถ้วน
ส่วนสัญญาที่ 2 ก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดส่วนที่เหลือ มูลค่า 321,670,000 บาท ซึ่งจัดขึ้นในช่วงต้นปี 2557 กับสัญญาที่ 3 ก่อสร้างอาคารสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 มูลค่า 290,885,000 บาท เมื่อกลางปี 2557 กลับไม่มีรายละเอียดแจ้งลงในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ครบถ้วน โดยเฉพาะรายละเอียดการยื่นเสนอราคา จำนวนเอกชนที่ซื้อซองและเอกชนที่ยื่นราคา แต่พบว่าในที่สุดเอกชนรายเดิมที่ได้สัญญาแรกคือ บริษัทพี.เอ็น.เอส.ไซน์. จำกัด ได้สัญญาก่อสร้างทั้งหมดไป ซึ่งน่าเคลือบแคลงสงสัย
นอกจากนี้ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า โครงการนี้มีกำหนดก่อสร้างเสร็จและต้องส่งมอบงานตามสัญญาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มิ.ย.61 แต่ปรากฏว่ามีการขยายสัญญามาตลอดจนถึงปัจจุบันนับ 100 วันแล้ว ซึ่งต้องเสียค่าปรับวันละ 350,000 รวมเป็นเงินแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาทางสำนักงานศาลยุติธรรมไม่เคยชี้แจงรายละเอียดใดๆ ให้ประชาชนรับทราบเลย จึงตั้งข้อสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่โครงการนี้จะมีการเอื้อประโยชน์กัน และต้องการให้ทาง ป.ป.ช. และ สตง.ดำเนินการตรวจสอบ
ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ย้ำว่า สิ่งที่คนเชียงใหม่ต้องการมีเพียงการขอคืนป่าดอยสุเทพเท่านั้น โดยเพียงทำการรื้อย้ายบ้านพัก 45 หลังและอาคารชุด 9 หลัง ออกจากพื้นที่แนวเขตป่าดั้งเดิมและทำการฟื้นฟูตามข้อตกลงที่รัฐบาลให้ไว้กับคนเชียงใหม่เท่านั้น แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีการดำเนินการ ซึ่งจากเดิมที่ทางเครือข่ายพยายามจะให้โอกาสและประนีประนอมอย่างถึงที่สุด แต่ไม่เป็นผลและไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการที่จะทำตามข้อตกลงที่ให้สัญญาไว้ ทำให้จำเป็นต้องทำการขุดคุ้ยตรวจสอบข้อมูลความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้จนพบและยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ รวมทั้งทำการตรวจสอบเจาะลึกต่อไปอีก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :