ที่กระทรวงกลาโหม นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย พร้อมด้วยนางสาวณัฏฐา มหัทธนา หรือ "ครูโบว์" แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำนายไสว ทองอ้ม เหยื่อถูกยิงจนแขนพิการระหว่างการร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ในปี 2552 และนางสาวสุข ยาจิตต์ ภรรยาของนายไสว เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้กองทัพยุติการบังคับคดี ยึดที่ดินทำกิน
นายไสว ยืนยันว่า สิ่งที่ได้ทำลงไปทั้งการร่วมชุมนุมในปี 2552 เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคการเมืองเสียงข้างน้อย ไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร รวมถึงการยื่นฟ้องกองทัพหลังถูกยิง ล้วนมาจากมโนสำนึกที่เคารพในสิทธิเสรีภาพของตัวเองและผู้อื่น และต้องการเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งหากย้อนเวลาได้ ก็จะยังทำใน 2 สิ่งเช่นเดิม แม้ผลพวงจากการต่อสู้จะนำมาซึ่งความสูญเสียก็ตาม โดยสภาพความเป็นอยู่ปัจจุบัน ยากแค้นและต้องอดมื้อกินมื้อ ตามที่สื่อมวลชนหลายแขนงได้ลงพื้นที่นำเสนอข่าว สำหรับวันนี้เห็นทิศทางที่ดีและหวังว่าผู้มีอำนาตที่เกี่ยวข้องจะให้ความช่วยเหลือ
นางสาวณัฏฐา ยืนยันถึงความชอบธรรมของนายไสว และย้ำถึงความเป็นไปได้ที่จะยุติการบังคับคดีเพราะมีช่องทางตามกฎหมาย พร้อมระบุด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงมนุษยธรรมที่ขาดหายไปของทางกองทัพบก ซึ่งได้ซ้ำเติมชะตากรรมของประชาชนที่ยากจน และหากนายไสว ต้องสูญเสียที่นาจริง ก็จะกลายเป็นมาตรฐานให้รัฐฟ้องกลับประชาชนที่นับวันจะยิ่งไม่กล้าฟ้องร้องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐในอนาคต
นายสมยศ ย้ำว่า สิ่งที่ทางกลุ่มร้องขอในกรณีนายไสวนั้น เป็นเพียงเศษธุรีแห่งความยุติธรรม ที่ผู้มีอำนาจสามารถทำได้อย่างง่ายดาย เเละอยากให้พลเอกประวิตร ให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างความสงบสุขและความยุติธรรมตามที่รัฐบาล คสช.ประกาศไว้และหากเป็นไปได้ ควรสละเวลามานั่งพูดคุยกับนานไสว เพื่อให้รับรู้สภาพชีวิตของคนจนที่ถูกซ้ำเติมด้วย
สำหรับกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากศาลฎีกาได้ตัดสินให้ยกฟ้องคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพ และสั่งให้นายไสว จ่ายค่าธรรมเนียมศาล และจ่ายค่าทนายจำเลย จำนวน 212,114 บาท ในส่วนนี้เป็นค่าทนายถึง 60,000 บาท และได้ยึดเงินในบัญชี 5,000 บาท ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และยึดที่ดินทำกินเป็นที่นาขนาด 8 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา ขายทอดตลาด กำหนดถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ หลังเกี่ยวข้าวที่ปักดำไว้เสร็จ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ไปยื่นคำร้องต่อสำนักนายกรัฐมนตรี และขอให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ช่วยเจรจาและประสานความช่วยเหลือแล้ว