ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากที่โปแลนด์ประกาศใช้ กม.ห้ามพูดถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้หลายประเทศวิพากษ์วิจารณ์ว่าโปแลนด์กำลังจะบิดเบือนและเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ แต่ก่อนหน้านั้น หลายชาติที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างมีความพยายามที่จะเขียนประวัติศาสตร์ของตนเองขึ้นใหม่เช่นเดียวกัน

เมื่อวันอังคาร 6 ก.พ. 2561 ประธานาธิบดี อันเแชย์ ดูดา ของโปแลนด์ได้ลงนามประกาศใช้กฎหมายห้ามกล่าวถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในโปแลนด์ ซึ่งเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวระบุว่า "ห้ามผู้ใดกล่าวถึงความสัมพันธ์ของโปแลนด์กับการตายที่เกิดขึ้นในค่ายกักกันของนาซีในโปแลนด์ หรือกล่าวหาว่าโปแลนด์มีส่วนรู้เห็นในการก่ออาชญากรรมของนาซีในอดีต ผู้ฝ่ายฝืนมีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี"

000_DV1948890.jpg

รองเท้าของชาวยิวที่ถูกสังหารโดยกองทัพนาซีภายในค่ายเอาชวิตซ์ โปแลนด์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

นักวิชาการและบรรดาผู้นำชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับช่วงที่เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีต่างออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน และประณามโปแลนด์ที่ปิดกั้นการถกเถียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ รวมถึงกล่าวหาว่า โปแลนด์มีเจตนาที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีต

ขณะที่ประธานาธิบดีดูดา และแกนนำรัฐบาลโปแลนด์อีกหลายราย ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นการจำกัดเสรีภาพในการพูดเรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีที่กระทำต่อชาวยิวในโปแลนด์ แต่การพูดหรือแสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

000_Par7718337.jpg

เรือนนอนของชาวยิวที่ถูกเกณฑ์มาจากทั่วยุโรปในค่ายเอาชวิตซ์ โปแลนด์

ดูดากล่าวถึงการตัดสินใจครั้งนี้ว่า การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ เกียรติยศและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของโปแลนด์ โดยเฉพาะการตั้งคำถามกับความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อจิตใจของประชาชน

แต่ไม่ใช่แค่โปแลนด์เท่านั้นที่พยายามลบลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นทางประวัตติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะประเทศในแถบเอเชียเองอย่างญี่ปุ่นและจีน ก็มีความพยายามที่จะเขียนประวัติศาสตร์ของสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นใหม่เช่นกัน

ปัจจุบัน จีน เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ได้ออกมาเรียกร้องให้ญี่ปุ่นทบทวนและแก้ไขแบบเรียนประวัติศาสตร์สำหรับใช้ในโรงเรียนญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีการกล่าวถึงการรุกรานและยึดครองดินแดนต่างๆ ของกองทัพญี่ปุ่นในอดีต ไม่่ว่่าจะเป็น การสังหารหมู่ที่นานกิงในจีนเมื่อปี 1941 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300,000 ราย รวมถึงประเด็นการบังคับผู้หญิงจีนและเกาหลีไปเป็น 'หญิงบำเรอ' หรือ comfort women ให้แก่ทหารญี่ปุ่นอีกกว่า 400,000 คนในช่วงสงครามดังกล่าว นอกจากนี้ แบบเรียนของญี่ปุ่นยังได้พยายามสร้างความชอบธรรมให้แก่การโจมตีสหรัฐฯ ของฝูงบินญี่ปุ่นในอดีตอีกด้วย

000_Hkg9280055.jpg

การประท้วงญี่ปุ่นที่ฮ่องกงในการจัดงานรำลึกการสังหารหมู่ที่นานกิงโดยการจุดไฟเผารูปภาพของจักรพรรดิฮิโรฮิโต

ฮิโรมิชิ โมเตกิ อดีตครูสอนประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ยืนยันว่า ตำราเรียนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นนั้น เขียนขึ้นโดยปราศจากอคติทางประวัติศาสตร์ ตามที่จีน เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้กล่าวหา เพราะหลังจากที่ญี่ปุ่นได้พิชิตและผนวกคาบสมุทรเกาหลีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นในปี 1910 ญี่ปุ่นก็ได้ใช้เงินจำนวนมหาศาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้กับท้องถิ่น รวมถึงเข้าไปให้การศึกษาและสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่คนท้องถิ่น และอาจจะกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นมีส่วนช่วยปลดปล่อยเกาหลีจากอิทธิพลของสหรัฐฯ ในช่วงนั้น

นอกจากนี้ เมื่อปี 2014 สำนักพระราชวังญี่ปุ่นออกหนังสือประวัติศาสตร์ชุด พระราชประวัติ จักรพรรดิฮิโระฮิโตะ ผู้ซึ่งมีบทบาทนำญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่2 เนื่องจากสมัยนั้นพระองค์ทรงมีสถานะเป็นดังเทพเจ้า เป็นผู้บัญชาการสูงสุด จึงทรงมีอำนาจตัดสินใจในการทำสงครามช่วง ค.ศ. 1930-1940 โดยมีการรุกรานและยึดครองจีน ซึ่งจีนอ้างว่าทำให้มีประชาชนตาย 20 ล้านคน และสงครามไม่อาจเริ่มขึ้นได้หากพระองค์ไม่ทรงอนุญาต

แต่ในหนังสื่อประวัติศาสตร์ดังกล่าวกลับระบุว่า จักรรพรรดิฮิโระฮิโตะทรงปรามการ "ทำสงครามอย่างไม่ยั้งคิด" ของเหล่าผู้บัญชาการทหาร ซึ่งทำให้พระองค์รู้สึก "สงสารบรรพขัตติยะ" โดยอ้างถึงการโจมตีฐานทัพเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐฯ ในปี 1941 นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า พระองค์ทรงคัดค้านพวกผู้บัญชาการทหารที่นำประเทศสู่สงครามเต็มรูปแบบกับจีนในปี 1940 โดยให้คำมั่นว่าสงครามจะกินเวลาสั้น และญี่ปุ่นจะชนะแน่นอน

อย่างไรก็ตาม หนังสือก็แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงพอพระทัยกับชัยชนะในสมรภูมิต่างแดน และกองทัพญี่ปุ่นได้รุกรานแมนจูเรียในปี 1931 แล้วจัดตั้งรัฐบาลหุ่น พร้อมกับฐานทัพสำหรับเล่นงานจีน และในปี 1941 กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดนานกิง เมืองหลวงเก่าของจีน มีการสังหารพลเรือนนับแสน แต่ในหนังสือไม่ได้มีการกล่าวถึงการสังหารหมุ่ประชาชนในเมืองนานกิงนับแสนคนเลย

000_SAHK971213146470.jpg

รูปภาพเหตุการณ์การสังหารหมู่นานกิง ภายในพิพิธภัณฑ์การสังหารหมู่นานกิง ในเมืองนานกิง ประเทศจีน

ทั้งนี้ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาอ้างว่า การสอนประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น เพื่อต้องการให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ถึงความเสียหายของประเทศที่เกิดขึ้นจากสงคราม โดยเฉพาะประเด็นที่ฮิโรชิมา นางาซากิ และโอกินาวาของญี่ปุ่น ถูกกองทัพสหรัฐฯ โจมตี รวมถึงทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของความร่วมมือกันระหว่างประเทศและการสร้างสันติภาพระหว่างประเทศ

ขณะที่ทางจีนเองก็ได้มีการเขียนเรื่องราวของเหตุการณ์ที่นานกิงขึ้นใหม่ โดยรัฐบาลได้สั่งให้ขยายช่วงเวลาของเหตุการณ์ระหว่างสงครามจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากปี 1937 -1945 กลายเป็นเริ่มตั้งแต่ปี 1931-1945 ซึ่งรวมเป็นระยะเวลากว่า 14 ปี โดยประวัติศาสตร์ที่ทางการจีนสั่งให้เขียนขึ้นใหม่นั้น เริ่มต้นตั้งแต่การที่ญี่ปุ่นเข้ามาในจีนเพื่อยึดครองแคว้นแมนจูเรีย รวมไปถึงการต่อสู้กันระหว่างกองทัพของจีนและญี่ปุ่นบนเส้นทางรถไฟสายตะวันตกเฉียงใต้ที่มุ่งหน้าไปปักกิ่ง ซึ่งนักประวัติศาสตร์จีนหลายคนเห็นว่า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่าง 2 ชาติในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา

แอนโนที บีเวอร์ นักประวัติศาสตร์ กล่าวกับเดอะการ์เดียนว่า การขยายเวลาดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของจีนมากกว่าจะแสดงถึงความเข้มแข็ง และการรุกรานแมนจูเรียของญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องของการล่าอาณานิคมมากกว่า แต่สงครามจีน-ญี่ปุ่น หรือชิโนแจแปน เป็นสงครามกึ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งอาจจะเทียบใกล้เคียงได้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวในยุโรป

ไม่เพียงแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่หลายชาติพยายามจะชำระประวัติศาสตร์ของชาติตนขึ้นมาใหม่ ทั้งในฐานะผู้กระทำและผู้ที่ถูกกระทำ ยังมีการพยายามชำระประวัติศาสตร์ของอดีตประเทศคอมมิวนิสต์เกิดขึ้น เพื่อลบความเลวร้ายของระบอบคอมมิวนิสต์ที่ตนเองเคยเป็นส่วนหนึ่งทิ้งไป เช่น ยูเครน มีการออกกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์เพื่อลบประวัติศาสตร์ ลบภาพความทรงจำของประเทศ และสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ประเทศใหม่

โดยเมื่อปี 2014 ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชงโก ผู้นำยูเครนในขณะนั้น ได้ประกาศใช้กฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งห้ามไม่ให้ผู้ใดกล่าวถึงอุดมการณ์และโฆษณาชวนเชื่อของนาซีและพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งยังห้ามพูดถึงการก่ออาชญากรรมในช่วงคอมมิวนิสต์เรืองอำนาจ ตั้งแต่ปี 1917-1991 โดยกฎหมายดังกล่าวมีบทลงโทษจำคุก 5 ปี สำหรับประชาชน และ 10 ปีสำหรับองค์กรที่เผยแพร่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์

000_T44F8.jpg

รูปปั้นเลนินที่พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งในยูเครน

นอกเหนือจากการออกกฎหมายห้ามเอ่ยถึงอุดมการณ์หรือการกระทำของพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต ยูเครนยังได้สั่งทำลายรูปปั้นและอนุสาวรีย์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์ทิ้ง รวมไปถึงสั่งเปลี่ยนชื่อสถานที่บางแห่ง ถนน และเมืองต่างๆ ซึ่งตั้งในสมัยที่เคยเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรคอมมิวนิสต์สากล

ทั้งนี้ ยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 1922 หลังจากการปฏิวัติรัสเซียและมีการจัดตั้งสหภาพโซเวียตขึ้นในปี 1917 และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตในขณะนั้นได้มีส่วนในการต่อสู้กับนาซี และยูเครนก็เป็นหนึ่งในกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับชาวโปแลนด์และนาซีในฝั่งยุโรปตะวันออก แต่หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ยูเครนก็แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตและประกาศเอกราช

การพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการพยายามเขียนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของประเทศใหม่ หรือเพื่อสร้างความเป็นชาตินิยมภายในชาติ อาจนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างประเทศ ดังเช่นกรณีของจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงเรื่องข้อพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ได้ และต่างฝ่ายต่างใช้เรื่องราวในอดีตในการโจมตีกัน โดยเชื่อมโยงกับประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

เรียบเรียงจาก AFP bbc aljazeera และ Deutsche Welle