นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจทัล ว่า ตนจะทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลโดยไม่ตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น ทำหน้าที่เป็นธุรการ และยังไม่ทราบว่าจะนำเสนอเข้าที่ประชุม คสช. หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับหัวหน้าคสช. ว่าจะนำเข้าที่ประชุมหรือไม่ ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าข้อมูลครบถ้วนหรือไม่เพราะต้องรอการพิจารณาจากคสช. ว่าจะต้องการข้อมูลใดเพิ่มเติมหรือไม่ และคาดว่าจะต้องมีการประชุมเพิ่มเติมอีก ขณะที่คณะกรรมการกสทช.ชุดเดิมยังคงทำงานเต็มที่ตามขั้นตอนปกติ และไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษในการสรรหา เพราะหากใช้วิธีพิเศษได้ ก็นำไปใช้ในการสรรหาคณะกรรมการกกต.ดีกว่า
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการเรียกพรรคการเมืองต่างๆ มาหารือในเดือนมิถุนายนนี้ ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน และส่วนตัวมองว่าพรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องรู้ ว่าจะมีการหารือในเรื่องใด เพราะหากทราบก่อนก็จะปฏิเสธก่อนจนทำให้เสียบรรยากาศ แต่เมื่อถึงเวลาก็รู้เองว่าจะมีการประชุมไม่เช่นนั้นอาจจะตกขบวน ยืนยันว่าการเรียกหารือนั้นมีประโยชน์อย่างแน่นอน ส่วนจะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ในเดือนมิถุนายนหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบแต่ต้องหารือกันในเดือนมิถุนายน โดยเฉพาะในส่วนของแม่น้ำ 5 สาย ดังนั้นหากพรรคการเมืองไม่มาร่วม ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีการโหวตนับคะแนน แต่ต้องมีการเชิญประธาน กรธ ประธานสนช. คณะกรรมการกกต. เพราะถือว่ามีอำนาจสุงสุด และไม่ได้ประชุมเพียงครั้งเดียว
ยืนยัน 'สร้างความสามัคคีปรองดอง' ไม่ใช่นิรโทษกรรม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ว่า เรื่องดังกล่าวมีความคืบหน้าไปมาก เพราะพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ดำเนินการทำเรื่องนี้ไปก่อนแล้ว ขออย่าคิดว่าเรื่องการปรอดอง จะหมายถึงเฉพาะเรื่องนิรโทษกรรม แต่เป็นการสร้างความเข้าใจ และสร้างบรรยากาศในการแก้ปัญหา ซึ่งมีเรื่องที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ
ทั้งนี้ยอมรับว่าการทำงานด้านการปรองดอง เป็นเรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยข้องกับประชาชนเป็นหลัก เพราะความปรองดอง หมายถึงการปรองดองในหมู่ประชาชน แต่รัฐยังคงต้องทำ ไม่เหมือนกับงานด้านการปฏิรูปหรือด้านยุทธศาสตร์ นายวิษณุ ยังปฏิเสธตอบถึงการสลายขั้วสีในการทำงานด้านการปรองดอง ตอบเพียงว่า ให้ไป ถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดีกว่า
ในส่วนการยกร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ นายวิษณุระบุว่า ตัวกฎหมาย จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจะสามารถปฏิรูปตำรวจได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องใช้เวลา ซึ่งขณะนี้ จะต้องเร่งประชุมคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปตำรวจ และด้านการศึกษาเป็นพิเศษ หาก ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งฉบับ ก็จะต้องดำเนินการในส่วนที่สำคัญก่อน เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งจากการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมานั้น ได้มีการสอบถามคณะกรรมการ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับตำรวจ และประชาชน ซึ่งมีทั้งเรื่องงบประมาณ และเรื่องบุคลากร ซึ่งจะเน้นการแก้ปัญหาเหล่านี้ก่อน
ด้านการกำหนดแผนแม่บท แผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 10 ปี เป็นข้อเสนอของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะ 10 ปี เป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้เห็นพัฒนาการ ทำให้มีแผนแม่บทเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติเป็น 2 แผน พร้อมยืนยันว่าแผนดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ แม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่ หรือรัฐบาลนี้อยู่ต่อ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ตามสถานการณ์ และจะมีการทบทวนแผนในทุกๆ 5 ปี
อ่านเพิ่มเติม