ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ข้อความเตือนภัย พ่อ-แม่ อย่าปล่อยลูกเล็กเล่นแอปพลิเคชันไลฟ์สด หวั่นถูกล่อลวงไปในทางที่ไม่ดี หลังเข้าไปเจอเด็ก 7 ขวบ ถูกยุให้แก้ผ้าโชว์ ด้าน ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว แนะพ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล็กเล่นโซเชียลโดยลำพัง ควรได้รับคำแนะนำและควรจะมีกระบวนการคัดกรองแอปพลิเคชั่นที่เด็กไม่ควรเล่น

ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์เรื่องราวเตือนภัย คุณพ่อ-คุณแม่ ที่มีลูกอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ควรปล่อยให้เล่นแอปพพลิเคชันไลฟ์ ลงในกลุ่ม ‎HerKid รวมพลคนเห่อลูก โดยเนื้อหาสรุปใจความว่า ได้เข้าไปในแอปฯ แล้วเจอกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง อายุ 7 ขวบ ทำการไลฟ์สดพูดคุยตามประสาเด็ก แต่คนที่เข้ามาในห้องไลฟ์สดดังกล่าวมีการยุให้เด็กแก้ผ้าโชว์ และจ้างให้น้องส่องตรงที่สงวน โดยบอกว่าจะให้ เงิน 500 บาท นอกจากนี้ยังมีการหลอกถามที่อยู่ของน้อง โดยอ้างว่าจะนำเงินไปให้ด้วย

ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ ระบุด้วยว่า การมาโพสต์เตือนครั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนามาประจานแต่อย่างใด เพียงต้องการเตือนคุณพ่อคุณแม่ ที่มีลูกเล็กๆ ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นแอปฯ นี้ เพราะอันตรายต่อตัวเด็ก อาจถูกล่อลวงไปในทางที่ไม่ดีได้ และอาจใจแตกก่อนวัยอันควร โดยต้องการให้ คุณพ่อคุณแม่ ใส่ใจลูกๆให้มากขึ้น



10-5-2561 13-52-30.jpg



32074867_10156510741527342_7942119374754676736_n.jpg

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เปิดเผยกับ “วอยซ์ออนไลน์” ว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น มี 3 ประเด็นที่อยากฝากไว้ ประเด็นที่ 1. เด็กทุกคน มีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและในประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ดังนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคน ที่จะต้องปกป้องคุ้มครองเด็ก ให้เขาสามารถอยู่รอดปลอดภัย สามารถได้รับการพัฒนา และได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือใครก็ตามที่ไปเห็นการไลฟ์สดดังกล่าว แล้วนำไปเผยแพร่ หรือกระทำใดๆที่ทำให้เด็กไม่ได้รับการอยู่รอดปลอดภัย ไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง ไม่ได้รับการพัฒนา ล้วนผิดกฎหมายได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น อย่าได้แชร์ อย่าได้ทำอะไรละเมิดสิทธิ์ ละเมิดกฎหมายเหล่านี้โดยเด็ดขาด

ประเด็นที่ 2 พ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล็กเล่นโซเชียลโดยลำพัง ถ้าเด็กคนนั้นยังไม่มีวุฒิภาวะที่ดีพอ ที่เมื่อเขารับข้อมูลแล้วสามารถที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเองโดยที่ผลของการตัดสินใจจะได้ใกล้เคียงกันกับผู้ใหญ่ดังนั้นเด็กที่อายุต่ำกว่า15ปี ควรได้รับคำแนะนำและควรจะมีกระบวนการคัดกรองเว็บที่ไม่เหมาะสม แอปพลิเคชั่นที่เด็กไม่ควรเล่น 

รศ.นพ.สุริยเดว แนะนำว่า พ่อแม่ควรนำกรณีศึกษามาเหลาความคิดเด็กโดยเริ่มจากเมื่อเราเห็นหรือเจอกรณีศึกษาใดๆก็ตามที่มองว่าอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้น แล้วเราอยากจะถกกับลูก ให้ใช้ 4คำถามกับลูก คือ เห็นแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง , ลูกคิดอะไร , เคยเจอในชีวิตจริงไหม และจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งผลจากการตั้งคำถามแบบนี้จะช่วยสร้างทักษะการรู้เท่าทัน ไม่ให้โดนล่อลวงผ่านระบบCyberbullying เราต้องหยุดยั้งเรื่องนี้

“วุฒิภาวะไม่ได้จุติมาเกิด มันต้องเกิดขึ้นจากประสบการณ์ และการถูกเหลาความคิด คนรอบข้างต้องสร้างให้เด็ก อย่างกรณีที่เกิดขึ้นเด็กไม่ได้ผิดนะ ผู้ใหญ่ผิดทั้งนั้น ” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวว่า ประเด็นสุดท้ายที่อยากฝากคือกลไกภาครัฐ รวมไปจนถึงกสทช. ที่มีหน้าที่ช่วยกันดูแลสร้างระบบเฝ้าระวังให้กับประเทศ หากเป็นโซเชียลมีเดีย ก็อาจมีการพูดคุยกับเฟซบุ๊ก ไลน์ ให้ช่วยกันดูแลหากมีสิ่งที่ไม่เหมาะสม ให้รีบดำเนินการwarning และบล็อกโดยทันที



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :