ทำได้เพียงท่องคาถา “ไม่รู้” เอาตัวรอดจากวงล้อมสื่อ แต่กลับ ‘ไม่ยื้อ’ หรือห้าม ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หากจะไปพรรคใหม่ ซึ่งก็คือ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ที่ถูกมองเป็น ‘พรรคสำรอง-รังใหม่’ ของ ‘บิ๊กตู่’ กับ ‘ทีมจันทร์โอชา’ ที่เป็น ส.ส. สายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ใน พปชร. ไปออกไปอยู่ด้วย ที่งานนี้ ‘บิ๊กป้อม’ ไม่มียื้อแถมตะเพิดด้วย
“ไปเลย ไปไหนก็ไป ผมไม่ว่าเลย อยากไปไหนไป เพราะเป็นเรื่องตัวบุคคล” พล.อ.ประวิตร กล่าว
“ไม่ห้าม ผมไม่ห้ามใครทั้งนั้น” พล.อ.ประวิตร ไม่ห้าม พล.อ.ประยุทธ์ ไปพรรคอื่น
ทั้งนี้ฝั่งพรรครวมไทยสร้างชาติก็ ‘รอจังหวะ’ ที่ ‘บิ๊กตู่’ จะขยับใหญ่
โดย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยอมรับแล้วว่าหลังประชุมเอเปค 2022 จะมีความชัดเจน ซึ่งตรงกับกระแสข่าวที่ว่า ‘บิ๊กตู่’ จะเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และเป็น ‘แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี’ ซึ่งพรรคดังกล่าวขุนพลส่วนใหญ่เป็น ‘อดีตศิษย์เก่าประชาธิปัตย์’
ทำให้พรรคถูกมองเป็น ‘พรรคคู่แข่ง-คู่เทียบ’ เฉกเช่นในอดีตยุคปี 2530 ที่มี ‘พรรคประชาชน’ ที่แตกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หวังกวาดปักษ์ใต้ แต่สุดท้ายก็พ่าย ปชป. อยู่ดี
ซึ่งในยุคนั้น ปชป. มี ‘พิชัย รัตตกุล’ เป็นหัวหน้า ‘ชวน หลักภัย’ เป็นแกนนำกลุ่มสะตอสามัคคี
ส่วนพรรคประชาชน นำโดย เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และ วีระ มุสิกพงศ์ ทว่าผ่านมา 30 กว่าปี บริบทการเมืองเปลี่ยนไป ปชป. เข้าสู่ยุคตกต่ำ
แถมมีกระแส ‘บิ๊กตู่’ ที่มาแย่งฐานเสียงในภาคใต้ อาจทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติ อาจไม่จบอย่างพรรคประชาชน
เกมนี้ถูกมองว่า ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ ที่มีรอยร้าวอยู่เดิม จะใช้ยุทธวิธีทางทหาร ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ หรือ ‘ปฏิบัติการรบสองหน้า’ หรือไม่
ตามแผนแยกกันเดินรวมกันตี หาก ‘ป.ใด’ พ่ายไป แผงอำนาจ ‘3ป.’ ก็จะสั่นคลอน
ดังนั้น ‘สูตรนายกฯคนละครึ่ง’ หรือคนละ 2 ปี ยังคงต้องจับตาดูต่อไป
เพราะการ ‘แตกพรรค’ เช่นนี้ อีกแง่หนึ่งก็เป็น ‘ยุทธศาสตร์’ การต่อสู้ เพราะ ‘แบรนด์บิ๊กตู่’ ขายไม่ได้พื้นที่ไหน ก็ใช้ ‘แบรนด์พลังประชารัฐ’ ผ่านเครือข่าย ‘บ้านใหญ่’ ในแต่ละพื้นที่ลุยไป
ส่วนพื้นที่ใด ‘แบรนด์บิ๊กตู่’ ยังขายได้ ก็ชูโรงชื่อ ‘บิ๊กตู่’ โดยเฉพาะภาคใต้ อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหา ‘ลูกสมุน’ ทั้งสองทีมที่ไม่ลงรอยกัน ระหว่าง ‘ทีมจันทร์โอชา-ทีมป่ารอยต่อ’ ที่เคยวัดพลังกันมาแล้ว
แต่หนทางข้างหน้ามีแต่ขัดแย้งหนัก เพราะจะไม่ต้อง ‘เกรงใจ’ อีกต่อไป การ ‘ต่อรองอำนาจ’ ของทั้ง 2 ขั้ว จะยิ่งชัดเจน ผ่านภาพ ‘สงครามตัวแทน’ นั่นคือ ‘2ป.ประยุทธ์-ประวิตร’ หนึ่งในตัวละครที่ถูกจับตาคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย จะหวนกลับ พปชร. หรือไม่ ซึ่งท่าที ‘บิ๊กป้อม’ ก็ไม่ปิดประตู แต่โยนให้ พปชร. พิจารณา
“ผมไม่รู้ อันนี้ต้องถามพรรค ไม่ใช่ถามตัวผม ผมทำอะไรได้ เพราะเราทำงานกันด้วยพรรค และยังไม่ได้มีการติดต่อมา” พล.อ.ประวิตร เผย
หาก ‘บิ๊กป้อม’ ดึง ‘ธรรมนัส’ กลับมาเป็น ‘ขุนพลข้างกาย’ จะทำให้ ‘บิ๊กตู่’ ยอมรับได้หรือไม่ เพราะเคย ‘ปลดฟ้าผ่า’ พ้นรัฐมนตรีมาแล้ว
ซึ่งในเวลานี้ ‘ธรรมนัส’ ก็ซุ่มเงียบเก็บตัว หลังบินกลับจากยุโรป ท่ามกลาง ‘วิบากกรรม’ ในทางการเมือง ของ ‘ผู้กองคนดัง’ ที่กำลังถูกงัดข้อ
และสะเทือนไปถึง ‘บิ๊กป้อม’ ด้วย หากดูในขณะนี้ยังคงเป็นเพียง ‘การสั่งสอน’ เท่านั้น เอาแค่ ‘เจ็บตัว’ ยังไม่เอา ‘ถึงตาย’ ในทางการเมือง แต่ก็ไปไหนยากขึ้น
เรียกว่าในเวลานี้เป็นช่วง ‘ระดมขุนพล-สแกนคน’ รวมทั้ง ‘ทำลายรังศัตรู’ และ ‘ทุบหม้อข้าวคู่แข่ง’ ไปในตัว ทำให้สถานการณ์ที่ดูเหมือนจะนิ่ง แต่กลับเต็มไปด้วย ‘เกมใต้ดิน’ ทั้งนั้น
หากพี่น้อง ‘2ป. ประยุทธ์-ประวิตร’ แยกทางกันเดิน จะเข้าทาง ‘เพื่อไทย’ หรือไม่ เพราะเท่ากับว่าฝั่ง ‘2ป.’ ถูกหารเก้าอี้ ส.ส. จากกัน
ดังนั้นอาจต้องมี ‘สัญญาใจ’ ระหว่าง ‘2ป.’ ถึงการมาจับมือตั้งรัฐบาลใจอนาคต แต่ถึงวันนั้น ‘ป.ประวิตร’ จะยอมให้ ‘ป.ประยุทธ์’ ขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรี หรือไม่ หรือยอมหักขึ้นเป็น ‘นายกฯเอง’ และ ‘ลูกพรรค’ แต่ละฝั่งจะ ‘ยอมรับ’ ได้หรือไม่
ท่ามกลางสถานการณ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลที่ระส่ำ ‘เปิดหน้าชน’ ไม่ต้องสน ‘เสียงในสภา’ เพราะรัฐบาลไม่ต้องใช้เสียงในสภาเพื่อ ‘ประคองตัวเอง’ หลังผ่าน ‘ศึกซักฟอก’ แบบลงมติมาแล้ว กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ก็ไม่มีต่อคิวเข้าสภา
ทำให้กลายเป็น ‘สภาวะฟรีโหวต’ เดินกันคนละทาง เพื่อ ‘โกยคะแนน’ ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหาเสียงสู่โหมดเลือกตั้งใหญ่ ผ่าน ‘ปฏิบัติการเตะตัดขา’ กำลังก่อตัว เช่น การที่รัฐบาลชิงออก ‘กฎกระทรวง’ เกี่ยวกับการ ‘ผลิตสุราพื้นบ้าน’ ก่อนที่จะมาคว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ในวันรุ่งขึ้น แต่เฉือนชนะไปเพียง 2 เสียงเท่านั้น
เกมต่อไปคือร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่สภาพคงไม่ต่างจาก พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แต่คราวนี้ ‘พรรครัฐบาล’ ฟาดกันเอง ระหว่าง พปชร.-ปชป.-ภูมิใจไทย ที่ร่างกฎหมายถูก ‘ยื้อเวลา’ ไปพิจารณาหลังประชุมเอเปค 2022 เสร็จสิ้น
ทว่าในทางการเมือง ‘ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร’ หลังเลือกตั้งก็กลับมา ‘จูบปาก-แชร์อำนาจ’ กันอีกครั้ง ทำให้ ‘บิ๊กตู่’ เล่นบท ‘ยื้อเวลา’ เพื่อ ‘ลากเกม’ ชิงความได้เปรียบ หากไม่ยุบสภาต้นปี 2566 ก็อยู่เกือบครบวาระ 4 ปี ตามแนวทาง ‘ยื้อ-แยก-ยุบ’ ยื้อเวลา แยกพรรค ยุบสภาฯ นั่นเอง
เตรียมสู้กัน เต็มคาราเบล !!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง