ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาชน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้รับคำร้อง กกต.วินิจฉัย 'พิธา' ขาดคุณสมบัติ ปมถือหุ้นสื่อ-ชูแก้ม.112 ชี้ ไม่เคารพมติประชาชน-เป็นการล้มล้างการปกครอง

วันที่ 18 ก.ค. 2566 เวลา 11.00 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน(ครช.) และ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกันยื่นหนังสือถึงคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาไม่รับคำร้อง หลังมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ใน 2 กรณี ประกอบด้วย 1. การถือหุ้นสื่อ 2. การหาเสียงด้วยนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ว่าเข้าข่าย ล้มล้างการปกครอง ซึ่งจะเกิดขึ้นช่วงเช้าของวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) 

LINE_ALBUM_230718_8.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณลานเสาธงด้านหน้าทางเข้าศาลปกครอง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองร้อยน้ำหวาน หรือตำรวจควบคุมฝูงชนหญิง ประจำการณ์รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่ในแนวแผงเหล็กที่ตั้งไว้รอบบริเวณอาคารศูนย์ราชการ ขณะที่กลุ่มผู้ทำกิจกรรมนำป้ายข้อความ “สนับสนุน พิธา เป็นนายกรัฐมนตรี” “ปกป้องประชาธิปไตย” “หยุดวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง” มาถือไว้ พร้อมเปล่งเสียงเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเคารพมติประชาชน

กฤษพล ศิริกิตติกุล หรือ โจเซฟ แกนนำผู้จัดกิจกรรมกล่าวว่า เหตุที่ต้องมาวันนี้เพราะไม่มั่นใจในความเป็นกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะปมการถือหุ้นสื่อของ พิธา ที่คนทั้งประเทศทราบกันว่า ปิดกิจการไปแล้ว รวมถึงปมการแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ จึงตั้งข้อสังเกตว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระจริงหรือไม่ เพราะเคยวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคอนาคตใหม่ รวมถึงให้ สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งเพียงเพราะออกรายการทำอาหาร 

LINE_ALBUM_230718_1.jpg

ขณะที่ การวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สามารถอยู่อาศัยในบ้านหลวงหรือบ้านพักในค่ายทหาร ร.1 รอ.ได้กลับไม่ถือว่าผิด แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว มองว่า การทำหน้าที่เช่นนี้ เป็นการจุดชนวนความขัดแย้งในหมู่ประชาชน หากองค์กรอิสระไม่ดำรงสถานะเป็นกลาง จะเป็นการผลักผู้คนจำนวนมากให้ลงท้องถนน และในฐานะที่ตนเองเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112 ยังต้องการเรียกร้องให้คืนสิทธิผู้ต้องขังคดีเดียวกันอีกอย่างน้อย 19 คน ที่ยังรอความหวังอยู่ในเรือนจำ

ด้าน อู๋ จาก ครช. ระบุว่า ทางกลุ่มมีความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข ม.112 ไม่ว่าจะมีพรรคการเมืองใดนำเสนอ ต่างมีมุมมองว่ากฎหมายนี้มีปัญหาในการกำหนดขอบเขตที่ไม่ชัดเจนแน่นอน และเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้โดยไม่ตรงตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งเรื่องการดำเนินคดี การประกันตัว และมีคำสั่งต่างๆ เมื่อกฎหมายมีปัญหาเช่นนี้แล้ว จึงน่าจะกระทบต่อตัวสถาบันเอง เพราะกฎหมายนี้ยังกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงเห็นว่า การเสนอให้แก้ไขไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง เพราะสอดรับกับหลักสิทธิเสรีภาพ และยังรักษาพระราชสถานะของสถาบันได้อย่างสมบูรณ์

LINE_ALBUM_230718_9.jpg

ด้าน สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่า ปกติแล้วหลังการเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก ภายใน 1 สัปดาห์ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่ประเทศไทยผ่านมา 2 เดือนยังคงไม่จบสิ้น ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะวินิจฉัยปมการถือหุ้นสื่อของ พิธา ที่ กกต.เร่งรัดการยื่นเรื่องตรวจสอบอย่างผิดปกติก่อนวันเลือกนายกรัฐมนตรี จึงเป็นข้อสงสัยว่าเหตุใด กกต.มีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ใช้ปมการถือหุ้นสื่อมากลั่นแกล้ง พิธา ที่มาของ กกต.ก็มาจาก สว.และ สว.ก็มาจาก คสช.ที่ก่อรัฐประหารเข้ามา จึงเรียกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการล้มล้างประชาธิปไตยที่สมรู้ร่วมคิดกับคณะรัฐประหาร