ไม่พบผลการค้นหา
ไร้เสียงคว่ำ! มติสภาฯ 359 เสียงเห็นชอบวาระ 3 ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย หลัง 'โรม' ในฐานะกมธ.สงวนความเห็นแก้ไขเนื้อหาหวั่น จนท.รัฐอ้างกฏหมายเฉพาะละเมิดสิทธิประชาชน ในห้วงที่มีการรัฐประหาร แต่สุดท้ายมติที่ประชุมสภาฯ ปัดตก

วันที่ 23 ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุมจารณาร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... จำนวน 4 ฉบับ ที่เสนอโดย 1.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) 2.) สิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน 3.) วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และ 4.) สุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคณะกรรมการ (กมธ.) วิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ 2 ขั้นเรียงลำดับรายมาตรา

ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. นำเสนอรายงานต่อสภาฯว่า สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ มุ่งป้องกันและปราบปรามหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายไม่ให้กระทำผิดกฎหมายเสียเอง ขณะเดียวกัน ก็มุ่งคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มุ่งปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมีประเด็นสำคัญที่เสนอให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณา ดังนี้ 

1.) มีการเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

2.) กำหนดให้มีการบันทึกภาพและเสียง ในการตรวจค้นคดีอาญาและการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับกุมตรวจค้นในคดีอาญา 

3.) องค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีความครอบคลุมทุกมิติทางด้านสิทธิมนุษยชนด้านกฎหมาย แค่ทางนิติเวชและจิตเวชศาสตร์ 

4.) กระบวนการสรรหาคณะกรรมการดังกล่าว กำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา โดยกำหนดให้คดีตาม พ.ร.บ.นี้เป็นคดีพิเศษ และกำหนดให้หลายหน่วยงานเข้ามาสอบสวน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในด้านการดำเนินคดีและรวบรวมพยานหลักฐานให้ทันกับสถานการณ์และป้องกันการทำลายพยานหลักฐานสำคัญ 

ชวลิต สภา พรบ ซ้อมทรมาน -F006-41FA-8955-6E1DCDFF1CE4.jpeg

จากนั้นได้มีการพิจารณามาตรา 2 ที่กรรมาธิการส่วนใหญ่ให้คงไว้ตามร่างเดิม โดยไม่ได้แก้ไข แต่มีคณะกรรมาธิการบางส่วนขอสงวนไว้เพราะต้องการให้แก้ไข 

ทั้งนี้ สมชาย หอมลออ ทนายความ ในฐานะกรรมาธิการ ขอสงวนความเห็นในหมวดที่ 3 ของร่าง พ.ร.บ. นี้ เสนอว่ามีกฏหมายเฉพาะหลายประการที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการที่เข้าข่ายละเมิดหรือย่ำยีสิทธิมนุษยชน เช่น กฏอัยการศึก หรือกฏหมายการสอบสวน และอาจจะถูกตีความได้ว่า บทบัญญัติที่กำหนดไว้ในร่างพรบ ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปจะได้รับการยกเว้นจากกฎหมายเฉพาะดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดที่ 3 ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ในขณะที่ทำการจับกุมหรือควบคุมตัว ได้มีกล้องบันทึกภาพ รวมทั้งการจัดทำบันทึกต่างๆเกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัวโดยละเอียด ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ช่องว่างทางกฎหมายทำการทรมานหรือบังคับบุคคลสูญหาย หรือละเมิดศักดิ์ศรีอย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรมได้ ซึ่งการละเมิดเหล่านี้ได้เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในหลายท้องที่ เช่นกรณีคลุมถุงดำที่เกิดขึ้นเป็นข่าวทุกสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้ กฎระเบียบต่างๆ ที่ออกตามกฎหมายอื่นนั้นจะมาเหนือกว่า หรือมาทับบทบัญญัติทางกฎหมายหรือกฎระเบียบที่ออกภายใต้กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ 

รังสิมันต์ โรม -E1D1-4AC0-80D4-EF0D0C204F75.jpeg

'โรม' ติดใจมาตรา 2 หวั่น จนท.รัฐใช้กฏหมายเฉพาะละเมิดสิทธิ มติที่ประชุมปัดตก 

ด้าน รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ขอสงวนความเห็นและขอให้เพิ่มในมาตรา 2/1 ประกอบไปด้วยเหตุผล 3 ข้อ ได้แก่ 

1.ตนต้องการเห็นกฎหมายนี้เป็นกฎหมาย กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญและเป็นความท้าทายของประเทศไทย ไม่นับหลายกรณีที่เกิดขึ้นด้วยการอ้างกฎหมายพิเศษ การกำหนดมาตรานี้ จะทำให้เป็นการยกระดับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน 

2.จะทำให้มั่นใจได้ว่ากฎหมายในอนาคตจะมีมาตรฐานที่สูงขึ้น ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 

3.หากไม่มีการกำหนดไว้สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้จะไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง เพราะในประเทศไทย มี มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐโดยอ้างกฎหมายพิเศษอยู่ตลอดเวลา 

"นั่นจึงเป็นที่มาของการกำหนดมาตรา 2/1 เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่ว่าประเทศของเราจะมีการรัฐประหาร มีการใช้กฎอัยการ มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือการใช้กฎหมายพิเศษอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็ไม่สามารถทำลายหลักการทางสิทธิมนุษยชนที่กฎหมายฉบับนี้ได้คุ้มครองเอาไว้" รังสิมันต์ กล่าว 

จากนั้นมีการลงมติในที่ประชุม โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 318 เสียง ไม่เห็นด้วย 43 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง มติของที่ประชุมเห็นควรให้สงวนไว้ตามร่างเดิม

อังคณา นีละไพจิตร -5FE5-488C-B94B-B38950030868.jpeg

'อังคณา' ชงเพิ่มนิยาม 'สามีภรรยา' ให้ครอบคลุมเพศเดียวกัน-ไม่จดทะเบียนสมรส

ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะ กรรมาธิการ อภิปรายชี้แจงนิยามศัพท์ในมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ. ในเรื่องของคำว่า 'เจ้าหน้าที่รัฐ' เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ครอบคลุมอนุสัญญาระหว่างประเทศ 2 ฉบับ คืออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาป้องกันและปราบปรามการกระทำให้บุคคลสูญหายของสหประชาชาติ และโดยนิยามของสหประชาชาติ คำว่า 'เจ้าหน้าที่รัฐ' หมายถึง บุคคลใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งการรู้เห็นเป็นใจรู้แต่ไม่ห้ามหรือกระทำการใดก็แล้วแต่ ที่ใช้อำนาจความเป็นรัฐ หรือแต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งคณะกรรมาธิการเห็นว่า การให้คำนิยามไว้เช่นนี้ได้ครอบคลุมในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทรมานและการบังคับสูญหาย 

นอกจากนี้ กรรมาธิการยังเห็นว่าที่ผ่านมากฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องผู้เสียหายในคดีอาญา มีช่องโหว่ กฎหมายกำหนดว่า 'สามีภรรยา' ต้องจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติจริง มีผู้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในฐานะสามีภรรยาแต่ไม่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสมากขึ้น รวมถึงผู้คนในกลุ่มชายขอบของประเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือ กลุ่มคนมุสลิมมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนเหล่านี้ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ที่ผ่านมากฎหมายจึงไม่ได้ครอบคลุมสิทธิในการผู้เสียหายในคดีอาญาของคนเหล่านี้ กรรมาธิการจึงบัญญัตินิยาม คำว่า 'สามีภรรยา' ให้หมายถึง คู่สามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ ซึ่งให้หมายรวมครอบคลุมถึงคู่ชีวิตเพศเดียวกันด้วย 

ในเมื่อปัจจุบัน ยังไม่มีการบัญญัตินิยามของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันไว้ในกฎหมายไทย จึงทำให้กรรมาธิการเห็นว่าการใส่นิยามว่าผู้อุปการะและผู้อุปการะ แม้จะไม่มีความครบถ้วนหรืออาจทำให้หลายท่านไม่พึงพอใจ แต่อย่างน้อยที่สุด การบัญญัติการคุ้มครองสิทธิตรงนี้ไว้จะทำให้คนทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน และดิฉันหวังว่า ในวันหนึ่งเมื่อมีการพัฒนากฎหมายมากขึ้น ก็จะมีการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายโดยใช้นิยามศัพท์เฉพาะได้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น" อังคณา กล่าว 

จากนั้นได้ที่ประชุมสภาฯ เห็นด้วย 352 เสียงเห็นด้วยกับการแก้ไขตามมติเสียงข้างมากของ กมธ. ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง

ในระหว่างการพิจารณามาตรา 13/1 ซึ่งกรรมาธิการได้เพิ่มขึ้นใหม่ ศิริภา อินทรวิเชียร กรรมาธิการ ให้ความเห็นโดยกล่าว ผู้ขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนหลายรายที่ถูกบังคับสูญหาย เช่น ทนง โพธิ์อ่าน ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน สมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกรณีของ บิลลี่ ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย ยังไม่รวมเหตุบังคับให้สูญหายอีกกว่า 80 ราย ที่เกิดขึ้นจากทั้งกรณีพฤษภาทมิฬ 2535 ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สงครามยาเสพติด ช่วง 2546-2548 รวมถึงปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าในยุครัฐบาล คสช. ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบุคคลเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับภาครัฐโดยตรง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อหรือมีโอกาสจะตกเป็นเหยื่อมากกว่าคนอื่น 

ด้วยการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการทรมานหรือบังคับให้สูญหายนั้น ก็เชื่อได้ว่า ไม่ได้เป็นแรงจูงใจส่วนตัวแต่การกระทำตามคำสั่งของผู้มีอิทธิพล ผู้บังคับบัญชา ผู้ปกครองของรัฐ ดังนั้น กลไกในการสรรหาจึงมีความสำคัญยิ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการที่เป็นอิสระ รายการทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพ การคานอำนาจในการตรวจสอบ กรรมการชุดนี้จึงต้องมีความเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำของฝ่ายบริหาร รวมทั้งฝ่ายการเมือง 

ในร่าง พ.ร.บ.ที่กรรมธิการได้เสนอนั้น เสนอให้มีคณะกรรมาธิการสรรหาทั้งหมด 11 คน มาจากพรรคการเมืองทุกพรรคสภากันเอง 8 คน พร้อมด้วยประธานสภา และผู้นำฝ่ายค้าน รวมกันแล้วคณะกรรมการสรรหาที่มาจากภาคการเมืองมีมากถึง 10 คนจาก 11 จึงสงวนให้แก้ไขคณะกรรมการสรรหาชุดนี้ โดยเสนอให้มีประธานสภา เป็นประธานกรรมการสรรหา ผู้นำฝ่ายค้าน นายกสภาทนายความ ผู้แทนองค์กรเอกชนสิทธิมนุษยชน องค์กรละ10 คน เลือกกันเองให้เหลือ 3 คน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชนองค์กรละ 1 คน เลือกกันเองให้เหลือ 1 คนเป็นกรรมการสรรหา ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มีความหลากหลาย และเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ในการสรรหาคณะกรรมการสรรหาอย่างเหมาะสม 

ด้าน อังคณา อภิปรายสนับสนุนว่า ในความเป็นพลเมืองย่อมมีการเมืองเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น โตในองค์ประกอบของร่าง พ.ร.บ. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ อยู่ภายใต้การเมืองแทบทั้งสิ้น กรรมาธิการจึงพยายามให้มีส่วนร่วมของประชาชนให้มาก การเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการ ทั้งผู้มีประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน แพทย์ ที่มีความรู้เกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐาน รวมถึงผู้เสียหายและผู้แทนผู้เสียหาย ที่มีความรู้เกี่ยวกับอุปสรรคและการให้ความช่วยเหลือกับ ในมาตรา 13/1 นี้ การที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมในการสรรหาถือเป็นสิ่งที่ดี อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการต้องคำนึงด้วยว่าระยะเวลาในการสรรหาก็จำเป็นจะต้องรวดเร็วและกระชับ เพื่อให้มีคณะกรรมการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยเร็วที่สุด 

สำหรับ การเสนอให้เลขาธิการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาเป็นคณะกรรมการสรรหาด้วย แต่ต้องไม่ลืมว่า คณะกรรมการใน พ.ร.บ.นี้ ก็สามารถถูกตรวจสอบได้โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย เช่น ถ้าผู้เสียหายรู้สึกว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่เป็นธรรมเลือกปฏิบัติ ก็สามารถที่จะไปร้ององค์กรอิสระ ตามนั้นกรรมาธิการจึงเห็นควรที่จะคงไว้ตามร่างที่เสนอมานี้ 

ในส่วนของการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของหญิงและชายนั้น กรรมาธิการมองว่าการมีส่วนร่วมต้องมีทั้งหมด โดยยึดตามคำตีความคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏบัติของสตรี ที่นิยามว่า ผู้หญิงข้ามเพศก็คือผู้หญิง ผู้ชายข้ามเพศก็คือผู้ชาย อีกทั้งกรรมาธิการยังเคารพว่ามีคนจำนวนน้อยที่ไม่ประสงค์จะระบุเพศของตัวเองสมัครเข้ามา ดังนั้น สิ่งที่กรรมาธิการได้ร่างไว้ จึงคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของทุกคนอย่างรอบด้าน

ประชุมสภา เห็นชอบ ร่าง พรบป้องกันอุ้มหาย -4569-4E19-BEA3-57655D6BB21E.jpeg


ศุภชัย ประชุมสภา -EEB1-4AB4-AA63-B58CCF69CA73.jpeg

สภาฯ เห็นชอบ 359 เสียงเห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย

จากนั้นเวลา 17.18 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี ศุุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมได้พิจารณาเรียงลำดับรายมาตราในวาระที่ 2 เสร็จสิ้นแล้ว จากนั้น ประธานได้แจ้งที่ประชุมให้ลงมติเพื่อให้ความเห็นชอบในการประกาศใช้เป็นกฎหมายในวาระที่ 3 โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 359 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้เห็นชอบข้อสังเกตตามที่คณะกรรมาธิการได้เสนอรายงานไว้ โดยมีมติเห็นด้วย 334 คน ไม่เห็นด้วย 0 คน งดออกเสียง 1 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 5 คน เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ จากนั้นจะนำข้อสังเกตส่งคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ หรือดำเนินการต่อไป 

ทั้งนี้ภายหลังลงมติร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จสิ้น ศุภชัย โพธิ์สุ ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้กล่าวว่า วันนี้สมาชิกได้อยู่กันอุ่นหนาฝาคั่ง อยากให้อยู่แบบนี้จนครบวาระ