ไม่พบผลการค้นหา
โฟกัสกรุ๊ปหารือควบรวมนัดแรก ไร้เงา TRUE-DTAC ด้าน AIS อัด กสทช. ต้องสร้างกติกาแข่งขันให้เสรีและเป็นธรรม

วันนี้ (9 พ.ค.) สำนักงาน กสทช. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ครั้งที่ 1 สำหรับกลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เก่ียวข้อง อย่างไรก็ดี ผู้บริหารจากสองบริษัทใหญ่ที่ประสงค์ควบรวมกิจการไม่ได้เดินทางมารับฟังความคิดเห็นในวันนี้ แต่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมดีงกล่าว

ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. ในฐานะประธานการประชุม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานว่า การทำ Focus Group ในวันนี้ ถือว่าเป็นไปตามโรดแมป ที่ กสทช.ได้วางเอาไว้ ทั้งนี้ การประชุมครั้งที่ 2 จะเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ และครั้งที่ 3 เป็นเรื่องของผลกระทบต่อผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ขณะเดียวกัน กสทช. ก็จะนำผลการประชุมไปพิจารณาภายใน 4 อนุกรรมการที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาและพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไป

ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ในฐานะผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) กล่าวว่า AIS มีความพร้อมที่จะแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายและกติกาที่ กสทช. กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้ผู้เล่นรายใหญ่ภายในประเทศลดจำนวนลงจาก 3 ค่ายเหลือ 2 ค่าย ย่อมเป็นการลดทางเลือกในการใช้บริการโทรคมนาคมของประชาชน ไม่ว่าจะด้านโปรโมชั่น ราคา บริการหลังการขาย และคุณภาพสัญญาณ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมน้อยลง 

S__10240056.jpg

แม้นักวิเคราะห์ในตลาดทุนหลายรายมองว่า การควบรวมครั้งนี้ จะเป็นการลดการแข่งขันและทำให้ผู้ประกอบการทุกรายได้รับประโยชน์ก็ตาม แต่ AIS จำเป็นจะต้องบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล ไม่อาจเพิกเฉยต่อการลดจำนวนผู้เล่น จึงต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะไม่อยากถูกจดจำว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการผูกขาด สร้างจุดด่างพร้อยให้ตลาดโทรคมนาคมได้ ซึ่งการควบรวมจะสร้างผลกระทบไม่เพียงต่อผู้ใช้บริการเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ประกอบการรายย่อยผู้ไม่มีอำนาจต่อรองด้วย เนื่องจากผู้ประสงค์ควบรวมคาดหวังที่จะลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อน ก็จะเกิดการลดการจ้างงานผู้รับเหมา ยกเลิกพื้นที่เช่า ทำให้เกิดการหดตัวของอุตสาหกรรมในภาพรวม

นอกจากนี้ AIS ยังถือว่าเป็นผู้เสียหายเช่นกัน เพราะผู้ประสงค์ควบรวมจะมีการถือครองคลื่นความถี่บางย่านเกินกว่าที่ กสทช.อนุญาตในการประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมา โดยหลักของการจัดสรรคลื่นความถี่แล้ว ผู้ประมูลต้องไม่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เช่นเป็นบริษัทแม่-ลูก หรืออยู่ในเครือเดียวกัน ดังนั้น หาก กสทช. ปล่อยให้มีการควบรวม กสทช.ต้องมีส่วนเยียวยาความเสียหายให้กับ AIS ด้วย พร้อมยืนยันว่าไม่ได้กังวลเรื่องการแข่งขัน แต่มีความกังวลอย่างมากเรื่องผลกระทบต่อผู้บริโภค อุตสาหกรรม และการถือครองคลื่นความถี่ที่ไม่เป็นธรรม