นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้ามายื่นประมูลคลื่น 1800 MHz หลังจาก กสทช.เปิดให้ผู้สนใจเข้าแสดงเจตจำนงตั้งแต่เวลา 8.30 น.
อย่างไรก็ตาม กสทช.อยู่ระหว่างรอ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC หรือ เอไอเอส จะเข้ามายื่นคำขอใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz โดยเท่าที่ทราบยังอยู่ระหว่างการประชุมคณะกรรมการ หลังจากเช้านี้ (15 มิ.ย.) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ประกาศไม่เข้าร่วมการประมูล และก่อนหน้านี้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ก็ไม่เข้าร่วมประมูลเช่นกัน
"ตอนนี้เรายังรอถึงเวลา 16.30 น. เรายังมีความหวัง เพราะการที่บอร์ดเอไอเอสประชุมกันนานก็มีโอกาสเข้ามาประมูล"นายก่อกิจกล่าว
ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการคลื่นความถี่มีมากขึ้นเพราะตลาดให้บริการดาต้าเติบโตอย่างมาก การมีคลื่นในมือจำนวนมากจะสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดีขึ้น ดังนั้น การเข้าประมูลหรือไม่ คงไม่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การประมูล เพราะหลักปฏิบัติเหมือนการประมูลคลื่น 900 MHz และ 2100 MHz ครั้งที่ผ่านมา แต่น่าจะขึ้นกับกลไกตลาดมากกว่า
รองเลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า การเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz หากมีผู้ร่วมประมูลเพียง 1 ราย สำนักงาน กสทช.จะจัดประมูลตามขั้นตอนที่ประกาศ ซึ่งจะมีการเคาะราคาประมูลในวันที่ 4 ส.ค.นี้
การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ครั้งนี้จำนวน 2 x 45 MHz แบ่งเป็น 3 ชุดๆ ละ 2 x 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต ซึ่งผู้ประกอบการสามารถมีราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และกำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,880 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน
ผู้ที่เข้ามารับเอกสารคำขอรับใบอนุญาตจำนวน 6 บริษัท ได้แก่ 1. บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) 2. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด 3. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 4. บริษัท ดีแทค บรอดแบรนด์ จำกัด 5. บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ 6. บริษัท เรียล มูฟ จำกัด
ข่าวเกี่ยวข้อง :