วันที่ 16 ม.ค. 66 พรรคก้าวไกล โดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยนโยบายของพรรคก้าวไกล ได้ประกาศนโยบายเนื่องในโอกาสวันครูแห่งชาติ “ลดงานครู คืนครูให้นักเรียน” เพื่อแก้ปัญหาภาระงานเอกสารและงานอื่นๆ ที่ดึงครูออกจากห้องเรียน
พิธา กล่าวว่า มีงานวิจัยของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ได้ทำการศึกษาเอาไว้ว่าใน 1 ปี มีวันเปิดเรียน 200 วัน แต่ครูต้องใช้เวลา 84 วัน หรือ 42% ไปกับงานนอกห้องเรียน ปัญหาเรื่อง งานที่ดึงครูออกจากห้องเรียนถูกพูดถึงกันมานาน คำถามคือทำไมเรื่องนี้ถึงยังแก้ปัญหาไม่ได้ ก้าวไกลจึงได้ตั้งโจทย์การทำนโยบายใหม่ ด้วยการที่ทีมนโยบายเราลงไปเก็บข้อมูลจากครูที่อยู่ล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร คือครูผู้ช่วยบรรจุใหม่ ที่เงินเดือนน้อยที่สุด แต่ต้องรับภาระงานแทบจะมากที่สุดในโรงเรียน
ปัญหาที่คุณครูเล่าให้เราฟัง หลายเรื่องนักปฏิรูป หรือผู้บริหารจากส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาคอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก อย่างการจัดผ้า จับจีบ สร้างพิธีกรรมต้อนรับผู้บริหารกระทรวง หรือการเข้าเวรอยู่โรงเรียนในยามวิกาล แต่สำหรับครูระดับล่างสุดที่เป็นผู้ปฏิบัติงานที่ต้องรับผิดชอบห้องเรียน สิ่งเหล่านี้กินพลังงานและชั่วโมงการทำงานมหาศาล จนส่งผลกระทบกับการจัดการเรียนการสอน
“นี่จึงเป็นที่มาของการทำข้อเสนอ 10 ข้อ ที่ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราสามารถแก้ได้ทันที คือ 1) ยกเลิกให้ครูเข้าเวร ทันที! 2) ยกเลิกพิธีการ จัดจีบ จัดผ้า จัดโต๊ะ ตั้งบอร์ด ในการประเมินผล ทันที! 3) ห้าม ผอ. ใช้ครูทำผลงาน ให้ครูประเมินผล ผอ. 360 องศา 4) ลดงานธุรการครู เพิ่มงานบริหารให้ผู้บริหาร 5) ระบบกรอกต่างๆ ต้องไม่ล่ม จบในระบบเดียว 6) ยกเลิกการเขียนรายงานเมื่อไปอบรมหรือปฏิบัติราชการ 7) เลิกการส่งครูไปอบรม! เปลี่ยนเป็นให้เงิน เพื่อให้ครูเลือกไปเรียนรู้แทน 8) ห้าม! สพฐ. จัดอบรมในวันที่มีการเรียนการสอน 9) ระบบรับเรื่องร้องเรียนตรงถึงรัฐมนตรี 10) เพิ่มค่าตอบแทนครูบรรจุใหม่ให้มากกว่า 20,000+ บาท/เดือน"
ขณะที่เดชรัต กล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาครู ว่าค่าตอบแทนครูบรรจุใหม่ต้องสูงขึ้นกว่านี้ โดยครูที่เพิ่งเข้าใหม่ในระยะ 5-10 ปีแรก ค่าตอบแทนยังจำกัดอยู่ พรรคก้าวไกลจึงต้องผลักดันให้ของครูบรรจุใหม่ทุกคน ให้ได้รับค่าตอบแทนอย่างน้อย 20,000 บาทต่อเดือนให้ได้ โดยทำคู่กับการพัฒนาทักษะครูให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังได้เตรียมมาตรการในการแก้ปัญหาหนี้สินครู ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการรวบหนี้ ให้เป็นก้อนเดียว ปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาชำระหนี้ และปรับอัตราดอกเบี้ยรายการที่ต้องชำระหนี้ลง เพื่อให้ครูมีเงินไปใช้ในการดำรงชีวิตอย่างน้อย 30% ของรายได้ ส่วนในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล โรงเรียนและคุณครูจะต้องได้ทรัพยากรและค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจูงใจให้ครูไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล
“นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของวิธีการแก้ปัญหาเท่านั้น จะแก้ปัญหาการศึกษาไทย เราต้องพลิกวิธีการปฏิรูปการศึกษาใหม่ จากเดิมที่เน้น การบอกว่าเราอยากทำอะไร ซึ่งนำไปสู่การเขียนแผน เขียนหลักสูตร เขียนกฎหมาย ออก พ.ร.บ. หรือตั้งหน่วยงานใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการอันฝันฟุ้งไม่รู้จบของบรรดานักปฏิรูป เปลี่ยนเป็นช่วยกันหาปิศาจในระบบการศึกษาที่อยู่ในชีวิตประจำวัน และจัดการกับปิศาจเหล่านั้นทันที ปีศาจคือปัญหาที่ครูระดับล่างสุดต้องเผชิญ ที่เด็กนักเรียนในห้องเรียนของโรงเรียนที่ขาดแคลนที่สุดต้องเจอทุกวัน” พิธา กล่าว