ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีมี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านได้ออกมาระบุถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวของประเทศไทยว่าโควิด19 คลี่คลายแล้วแต่นักท่องเที่ยวยังเดินทางมาประเทศไทยน้อยนั้น น่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยใช้ความรู้สึก โดยไม่ได้พิจารณาถึงข้อมูลความจริง ที่ขณะนี้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่ต่างเผยแพร่ข้อมูลสถิติที่ชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวดังกล่าวนั้นก็ส่งผลดีต่อการจ้างงาน การมีงานทำของแรงงานธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากมาย
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดเผยถึงข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 ต.ค. 65 รวมแล้วกว่า 7.56 ล้านคน และด้วยใน 2 เดือนสุดท้ายของปีเป็นช่วงไฮซีซัน ททท. จึงคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยในช่วง พ.ย.-ธ.ค. เดือนละ 1.5 ล้านคน ทำให้ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 10 ล้านคน
ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนที่ ส.ส. ท่านนี้ถามว่ารัฐบาลอ้างว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 6 ล้านคนนั้น และถึงสิ้นปีจะเพิ่มเป็น10 ล้านคน ไปเอาตัวเลขมาจากไหนนั้น ก็ต้องเรียนว่าตัวเลขของรัฐบาลมีการจัดเก็บโดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองในด่านทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ และประมวลผลโดย ททท. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจนได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อรายงานต่อรัฐบาลใช้ในการประกอบการดำเนินนโยบายต่างๆ
สำหรับประเด็นที่มีการ ระบุว่า ตัวเลขผู้ที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองนั้นเป็นกลุ่มคนต่างด้าวที่ใช้วีซ่าท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศนั้น ต้องให้ข้อมูลว่าปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวผู้ที่ได้รับวีซ่าท่องเที่ยวจะพำนักในประเทศไทยได้นานที่สุด 45 วันเท่านั้น ด้วยระยะเวลาดังกล่าว ผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยวไม่สามารถทำงานในประเทศไทยได้ ผู้จะทำงานในไทยได้จะต้องได้รับอนุญาตให้ทำงาน หรือ มี Work Permit เท่านั้น
นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) ได้ชี้ให้เห็นว่าชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว เห็นได้จากการเดินทางเข้าผ่านด่านท่าอากาศยานเป็นหลัก ขณะที่หากเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นจะเดินทางเข้าผ่านด่านทางบก โดย สตม. รายงานว่า จากชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ 7.56 ล้านคนนั้น ช่องทาง 3 อันดับแรกที่มีการเดินทางเข้าคือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 3.99 ล้านคน ท่าอากาศยานภูเก็ต 9.81 แสนคน และท่าอากาศยานดอนเมือง 5.83 แสนคน เพียง 3 ท่าอากาศยานนี้ก็คิดเป็นร้อยละ 73.51 ของจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งหมด ส่วนการเดินทางผ่านด่านทางบกนั้นส่วนใหญ่เป็นการเดินทางผ่านด่านสะเดา จ.สงขลา 4.66 แสนคน และ ด่านหนองคาย 2.33 แสนคน
ไตรศุลี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ให้ความสำคัญ ติดตามสถานการณ์ในภาคการท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด มีข้อสั่งการและมอบหมายงานให้หน่วยงานเกี่ยวข้องผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ และออกมาตรการสนับสนุนโดยต่อเนื่อง ควบคู่กับการทยอยเปิดประเทศอย่างระมัดระวังเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวไปได้ ขณะเดียวกันคนไทยก็ต้องปลอดภัยจากโควิด19 ด้วย ไม่ได้ยึดแต่ตัวเลขและการเติบโตจนละเลยความปลอดภัยและชีวิตของประชาชน
ขณะเดียวกัน ช่วงที่นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาเนื่องจากนโยบายซีโร่โควิดนี้ นายกรัฐมนตรีก็มอบหมายทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และหน่วยงานเกี่ยวข้องในการหาตลาดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ตะวันออกกลาง ซึ่งก็สะท้อนจากตัวเลขการเดินทางเข้าไทยของชาวอินเดียที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอันดับ 2 ที่เดินทางเข้าไทย 6.79 แสนคน รองจากมาเลเซียที่ 1.28 ล้านคน
“ข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและส่งผลดีไปยังภาคต่างๆ โดยเฉพาะการบริโภคและการจ้างงาน เป็นเครื่องยืนยันว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ทอดทิ้งภาคการท่องเที่ยว ดังที่ ส.ส.ท่านี้กล่าวหา รัฐบาลได้ทำงานกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดวางมาตรการต่างๆ ร่วมกัน ขณะที่ ททท. ก็จัดกิจกรรมหาตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆ นิ่งเฉย ก็คงไม่ได้เห็นข้อมูลภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นต่อเนื่องดังที่ปรากฎอยู่ในขณะนี้” ไตรศุลี กล่าว
ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ได้มีกการระบุถึงการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่หยุดชะงักในช่วงเกือบ 3 ปีเนื่องจากสถานการณ์โควิดนั้น ก็เป็นสถานการณ์เดียวกับเมืองท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ขณะนี้สถานการณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ก็ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับภาพรวมของประเทศไทย
เห็นจากข้อมูลสถานการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ รวบรวมโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ใน 9 เดือนแรกของปีนี้ โรงแรมและที่พักในจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราการเข้าพักเพิ่มเป็นร้อยละ 49.11 จากร้อยละ 13.79 ในช่วงเดียวกันของปี 2564 ขณะที่จำนวนผู้เข้าพักรวม 3.83 ล้านคน จาก 1.05 ล้านคนในช่วงเดียวกันของปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 264.22 มีผู้เดินทางเยี่ยมเยียนทั้งชาวไทยและต่างชาติรวม 5.94 ล้านคน จาก 1.92 ล้านคนในช่วงเดียวกันของปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 209.31 เกิดรายได้การท่องเที่ยวจากผู้เยี่ยมเยียนรวม 3.87 หมื่นล้านบาท จาก 1.27 หมื่นล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 204.89
“การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลเป็นครรลองของระบอบประชาธิปไตย ที่แต่ละฝ่ายสามารถทำได้ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการทำงานที่เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่การวิจารณ์นั้นควรเป็นการวิจารณ์ที่มีคุณภาพ อยู่บนข้อมูลความเป็นจริง ไม่ใช่เอาอคติและประโยชน์การเมืองเป็นที่ตั้งแล้วบิดเบือนข้อมูลจนอาจเกิดความเข้าใจผิดและไม่มีประโยชน์ใดๆ เกิดแก่ประชาชนเลย” ไตรศุลี กล่าว