วันที่ 26 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางไปยังเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat: AMM Retreat) ตามคำเชิญของ ‘สะเหลิมไซ กมมะสิด’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 28-29 ม.ค.
โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม AMM Retreat เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งแรกของปี ภายหลังที่ สปป.ลาว เข้ารับหน้าที่ประธานอาเซียนปี 2567 ต่อจากประเทศอินโดนีเซีย เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินการของอาเซียนตลอดปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ASEAN: Enhancing Connectivity and Resilience” และติดตามผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2566
นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในกลุ่มอาเซียนจะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ และในภูมิภาคที่มีผลกระทบต่ออาเซียน เช่น สถานการณ์การสู้รบในเมียนมา เพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพ และความเป็นแกนกลางของอาเซียน ซึ่งจำเป็นในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ร่วมกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนต่างจับตาถึงประเด็นสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมา ซึ่ง กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทางการไทยอาจจะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาหารือ ภายหลังได้เริ่มมีการพูดคุยเกี่ยวกับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับรัฐบาลเมียนมา ขณะที่หลักการ Non-Interference หรือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันต่างถูกตั้งคำถามถึงช่องว่างของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หลักการดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงกันว่า เป็นตัวช่วย หรือเป็นปัญหา โดยภาคราชการอาจมองว่า เป็นตัวช่วย ทำให้ในหมู่ประชาคมอาเซียนไม่มีความขัดแย้งใหญ่จนส่งผลกระทบระดับใหญ่ หากเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ เพราะอาเซียนมีสันติภาพ เสถียรภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งภูมิภาคอื่นๆ ในโลกยังมองมาที่อาเซียนในพื้นที่ที่ถือเป็นโอกาสของเศรษฐกิจ
กาญจนา กล่าวเสริมว่า การที่ไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการตามหลักการไม่ได้หมายความว่า เราไม่ทำงาน แต่เมื่อเกิดปัญหาในประเทศสมาชิกก็จะมีประเทศอื่นๆ เข้ามาประคับประครองสถานการณ์ คุยกับผู้นำในด้านต่างๆ ของประเทศนั้นๆ เพื่อพยายามแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งยึดถือ ฉันทามติ 5 ข้อ ที่เป็นความพยายามของรัฐบาลนี้ เพื่อที่จะให้เกิดผลลัพธ์ทางการเมือง