ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำการศึกษาโลกชื่นชม วิสัยทัศน์ รมว.ศธ.ไทย ประกาศดึงความร่วมมือนานาชาติ หนุนปฏิรูปการเรียนการสอน ส่งเสริมครูพัฒนาผู้เรียนไทย ปลื้มผลวิจัย OECD 3 ปีพบเด็กพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ได้ไม่แพ้ใครในโลกด้วยฝีมือครูไทย ขณะที่ กสศ. และ สพฐ. เตรียมขยายผลเน้นความยั่งยืน

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติเรื่องการขับเคลื่อนทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ในโรงเรียนตามคำเชิญอย่างเป็นทางการขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หน่วยงานผู้ประสานงานโครงการประจำประเทศไทย ที่ National Endowment for Science, Technology and the Arts (NESTA) ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อเร็วๆนี้ นั้น ตนได้บรรยายในหัวข้อ “การปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อการพัฒนานวัตกรรม” (Reforming Education System for Innovation) ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออสเตรเลีย และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออสเตรเลีย แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร

โดยมีผู้แทนรัฐบาล นักการศึกษาชั้นนำระดับโลก นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สมาชิกวุฒิสภา ศิลปิน และผู้บริหารองค์กรการศึกษากว่า 200 คนจากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งรัฐบาลไทยและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้นโยบายสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างเต็มที่ทั้งระบบและในทุกระดับ ซึ่งตนมีความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะสนับสนุนการทำงานของโครงการและแผนงานที่ดีและได้รับการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศอย่างโครงการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ที่ กสศ. สพฐ. และองค์การ OECD ร่วมดำเนินงานมา 3 ปีจนประสบความสำเร็จในวันนี้ โดยตนต้องการเห็นแผนการขยายผลการดำเนินงานในประเทศไทยในขั้นตอนต่อไปที่ยังคงรักษาคุณภาพการดำเนินงาน และสามารถขยายการดำเนินงานสู่ระดับชาติได้ในอนาคตอันใกล้นี้ 

รมว.ศธ. กล่าวว่า มีความตั้งใจจะทำให้ทุกโรงเรียนในประเทศไทยมี Internet ความเร็วสูงทุกโรงเรียน และมิใช่เฉพาะห้องผู้บริหารในโรงเรียน แต่ต้องมีสัญญาณถึงทุกห้องเรียน ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และห้องสมุด เพื่อให้นักเรียนไทยทุกคน มีโอกาสที่เสมอภาคในการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากทั่วโลก รวมทั้งครูและผู้บริหารสถานศึกษาสามารถเข้าถึงเครื่องมือและแนวทางพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และทักษะภาษาอังกฤษในสถานศึกษาของตนได้อย่างเต็มที่

“หากสถานศึกษาและครูต้องการการสนับสนุนการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต อย่ากังวลเรื่องงบประมาณ หรือ เรื่องการหาวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ วันนี้ ศธ. และ กสศ. ได้มีความร่วมมือที่ชัดเจนและต่อเนื่องกับองค์การระหว่างประเทศชั้นนำของโลกอย่าง OECD แล้ว ในฐานะ รมว.ศธ. จะดึงเอาความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภายในและภายนอกประเทศเข้ามาช่วยสนับสนุนครูไทยที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณ” นายณัฏฐพล กล่าว 

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ทั้งนี้ ศธ.จะตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้เรียนและการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน มาสนับสนุนมาตรการดังกล่าวให้เกิดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนภายในวาระการบริหารราชการกระทรวงของตนให้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการบรรยายของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ได้รับการปรบมือชื่นชมจากผู้นำการศึกษาโลกกว่า 200 คนที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ โดยมีผู้นำการศึกษาโลกจากหลายประเทศได้ลุกขึ้นแสดงความชื่นชมและความคิดเห็นแก่ รมว.ศธ. ไทยจากหลายท่าน เช่น Professor Barbara Schneider ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดประเมินผลนโยบายการศึกษาจาก Michigan State University และ Anne Fennell จาก San Diego Unified School District ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ชื่นชมในความมุ่งมั่นและความกล้าของ รมว.ศธ. ที่เลือกประเด็นการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาด้วยการปรับลดงบประมาณในโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยตรง ไปสู่โครงการศักยภาพสูงที่ช่วยให้ครูพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมต่อการทำงานในอนาคตได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องยากและซับซ้อนในหลายประเทศ Professor Zemira Mevarech จาก David Yellin Academic College of Education ประเทศอิสราเอล Dee Keane จาก Creativity, Culture and Education จากสหราชอาณาจักร ชื่นชมความมุ่งมั่นในการการปฏิรูปครูทั้งระบบของ รมว.ศธ. เพราะหลายประเทศรัฐมนตรีศึกษาเลือกที่จะละเลยการปฏิรูปเรื่องนี้เพราะเหตุผลทางการเมือง และ Ryan Gawn จาก LEGO Foundation ประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่าการแสดงความมุ่งมั่นสนับสนุนการขยายผลโครงการส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์สู่การดำเนินงานระดับประเทศของ รมว.ศธ. นั้นแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์และความจริงใจต่ออนาคตของเด็กเยาวชนในโลกศตวรรษที่ 21 อย่างชัดเจน โดยทุกคนต่างพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาของไทยอย่างเต็มที่ในอนาคต

111.jpg

นอกจากนั้น รมว.ศธ. ยังได้หารือระดับทวิภาคีกับ Mr.Andreas chleicher, Director for the Directorate of Education and Skills ผู้แทนองค์การ OECD เรื่องแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและองค์การ OECD ทั้งในโครงการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ และโครงการอื่นๆ ในฐานะที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็น Associate Member ของ PISA Governing Board (PGB) กระทรวงศึกษาธิการในปีนี้ โดยมีผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเข้าร่วมหารือด้วย โดยผู้แทนองค์การ OECD ยินดีสนับสนุนนโยบายและการปฏิรูประบบการศึกษาของ รมว.ศธ. ไทยอย่างเต็มที่ โดยพร้อมจะให้ทีมงานของ OECD จัดทำรายงานวิเคราะห์เชิงลึกจากผลการสอบ PISA ประจำปี 2018 ที่มีกำหนดจะประกาศผลอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการนำไปใช้สนับสนุนนโยบายปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบของ รมว.ศธ. และรัฐบาลไทยในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. และ ดร.ณัฐา เพชรธนู ผอ.ศูนย์ PISA สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. ได้ร่วมกับผู้แทนจากประเทศฮังการี และแคว้นเวล์ส สหราชอาณาจักร นำเสนอผลการวิจัยพัฒนาและการประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ที่ได้ดำเนินการร่วมกับองค์การ OECD มาตลอด 3 ปี พบว่าครูไทยที่เข้าร่วมโครงการวิจัยจาก 110 โรงเรียนครอบคลุมนักเรียนกว่า 1,500 คน สามารถใช้เครื่องมือส่งเสริมความคิดฯ จากองค์การ OECD ได้ผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะความคิดสร้างสรรค์แบบอเนกนัย (Divergent Thinking) ทั้งด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่นักเรียนไทยได้แสดงพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์นี้ได้อย่างโดดเด่นในลำดับต้นๆ ของ 11 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการตลอด 3 ปี ที่สำคัญครูในบางสถานศึกษาสังกัด สพฐ. สามารถพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้แก่นักเรียนที่มีฐานะยากจนด้อยโอกาสจนมีพัฒนาการที่ดีไม่แพ้นักเรียนทั่วไป ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ผลการสอบ PISA เมื่อปี 2015 ของ กสศ. ว่าประเทศไทยมี “นักเรียนช้างเผือก”(Resilient Students) จำนวนมากที่ครอบครัวมีฐานะยากจน แต่ศักยภาพทางการศึกษาที่สูงไม่แพ้ใครในโลก

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทาง สพฐ. และ กสศ. เตรียมแผนการขยายผลการดำเนินงานของโครงการตามนโยบายของ รมว.ศธ. พร้อมทั้งเชื่อมโยงการทำงานกับ สสวท. ไปในปีงบประมาณ 2563 ต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลรายละเอียด และรายงานผลการวิจัยที่เป็นทางการจากองค์การ OECD ได้ที่ research.eef.or.th

333.jpg