'Soft Skills' หรือทักษะอ่อน คือทักษะอันหลากหลายที่ไม่ใช่ความสามารถเชิงเทคนิก แต่เป็นความสามารถของมนุษย์ในการทำความเข้าใจกับตัวเองและผู้อื่น การจัดการอารมณ์และสถานการณ์ รวมถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเพื่อนำไปสู่การประสบความสำเร็จ ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กับทักษะการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนในปัจจุบัน
EHL Insights ชี้ว่าในปี 2565 สถาบันการศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับสูง กลาง หรือระดับเริ่มต้น ผู้สอนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอดแทรกการเรียนรู้ทักษะ Soft Skills เข้าไปให้กับผู้เรียนเพราะจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักเรียนที่จบการศึกษาไปมีคุณสมบัติที่จะถูกรับเลือกเข้าทำงาน หรือมีศักยภาพมากเพียงพอที่จะสร้างเส้นทางการประกอบอาชีพการงานของตน
ในยุคของการเรียนออนไลน์ถือว่าเป็นความท้าทายของผู้สอนที่จะต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างการเรียนรู้เนื้อหาในหลักสูตรและการสร้างบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านการเรียนรู้และการทำงานร่วมกันให้มากที่สุดผ่านโลกออนไลน์ เพราะหากผู้เรียนไม่ได้รับการฝึกฝน Soft Skills มีความเป็นไปได้สูงมากว่า ผู้เรียนคนนั้นจะประสบกับความยากลำบากในการเติบโตทางอารมณ์และความคิด
เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดส่งผลโดยตรงกับ 'บทบาท' ของครูและนักเรียน ความสามารถของนักเรียนในการเข้าถึงข้อมูลจากทั่วโลกได้แค่ปลายนิ้วทำให้บทบาทของผู้สอนมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนจาก "ผู้ให้ความรู้" ไปเป็น "ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้" หรือ Learning Facilitator มากกว่า
ผู้สอนที่จะประสบความสำเร็จในการสอนนักเรียนยุคใหม่คือบุคคลที่มีความสามารถในการช่วยให้นักเรียนเข้าใจวิธีการเรียนรู้ เข้าใจวิธีที่จะรักการเรียนรู้ และการเป็นผู้ที่จะสอนให้นักเรียนเข้าใจในข้อมูลที่พวกเขาหามาได้ด้วยตัวเอง
การเปลี่ยนแปลงนี้คือเรื่องยากของผู้สอนจำนวนมาก หลายคนต้องทบทวนว่าตัวเองมี Soft Skills มากพอหรือไม่สำหรับบรรยากาศการเรียนการสอนยุคใหม่ หากผู้สอนสามารถปรับตัวได้พวกเขาจะมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนมากขึ้นอย่างเหลือเชื่อ
นอกจากนั้นผู้สอนจะมีโอกาสในการเข้าถึงฟีดแบกของประสิทธิภาพในการสอนของตัวเองได้แบบทันที และเมื่อผู้สอนให้ความสำคัญกับการพัฒนาของตัวนักเรียนมากกว่าแค่การส่งต่อความรู้ ผู้สอนก็จะรู้สึกถึงประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน
ระยะเวลาของการให้ความสนใจของนักเรียนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษาของไมโครซอฟต์ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างของปี 2543 และปี 2558 ผลการศึกษาชี้ว่าระยะเวลาการให้ความสนใจของนักเรียนนั้นลดลงมากถึง 4 วินาที จากเดิม 12 วินาทีลดลงเหลือเพียง 8 วินาทีเท่านั้น สาเหตุหลักมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่สามารถสร้างแรงกระตุ้นต่อผู้ชมได้อย่างต่อเนื่อง
ผลการศึกษาจาก TIME ระบุว่า 77% ของคนวัยหนุ่มสาวจะเอื้อมมือไปหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาทันทีเมื่อพวกเขาไม่มีอะไรทำ ขณะที่ในกลุ่มบุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีเพียงแค่ 10% เท่านั้นที่มีพฤติกรรมเช่นนี้
ตัวเลขจากการศึกษาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าครูผู้สอนมีความท้าทายมากขึ้นที่จะดำเนินการสอนในรูปแบบที่พวกเขาจะสามารถดึงความสนใจของนักเรียนไว้ได้ตลอดชั่วโมงเรียน เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากว่านักเรียนจะมีพฤติกรรมเหมือนกลุ่มคน 77% จากการศึกษาข้างต้น สิ่งสำคัญที่สุดของการสอนในยุคปัจจุบันคือทั้งวิธีการเล่าเรื่องและการใช้ภาพประกอบที่มีประสิทธิภาพ เมื่อครูผู้สอนสามารถทำเช่นนั้นได้ก็จะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้โดยปริยาย
หัวใจหลักที่ผู้สอนต้องจำไว้เสมอก็คือนักเรียนยุคใหม่ชอบความท้าทายและพวกเขาให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ลักษณะวิธีการสอนที่ให้ความสำคัญกับสองสิ่งนี้มีแนวโน้มที่จะสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
National Center for Education Statistics เผยว่าเมื่อปี 2562 มีนักเรียนเข้าถึงระบบการศึกษาแบบทางไกลเพิ่มขึ้นมากกว่า 7.3 ล้านคน แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีตอนนี้และวิกฤตโรคระบาด ตัวเลขนั้นกำลังสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อินเทอร์เน็ตกลายมาเป็นเครื่องมือหลักของนักเรียนในการเข้าถึงทั้งเนื้อหาและวิชาเรียนมากมายจากทุกมุมโลก
การสอนของครูจะถูกบังคับให้ต้องปรับตามสถานการณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่สถาบันการศึกษาทั่วโลกจะสามารถมอบประสบการณ์การเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบในลักษณะที่เคยดำเนินมา สิ่งที่กำลังจะลดลงอย่างชัดเจนคือ 'ความสนใจของผู้เรียน'
Soft Skills ของนักเรียนก็อาจกำลังลดลงหรือหายไป เช่น ทักษะการเป็นผู้นำโปรเจกสำคัญต่างๆ ที่โดยปกติแล้วเป็นเรื่องง่ายที่จะเกิดการฝึกฝนเมื่อผู้เรียนสามารถเข้าคลาสได้ตามปกติ และสามารถฝึกฝนทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้คนรอบข้างได้อย่างง่ายดาย
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลกแบบรายนาที เป็นปัจจัยบังคับให้ผู้คนทั่วโลกต้องปรับตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ใครก็ตามที่มองว่าตนเองเป็น 'มืออาชีพ' และมีความต้องการที่จะก้าวทันโลกและทันเกมอยู่ตลอดเวลา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ ให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพราะการศึกษาที่พวกเขาเคยได้รับเมื่อครั้งเริ่มต้นชีวิตการทำงานไม่เพียงพออีกต่อไป การเรียนรู้ใหม่ในทุกๆ วันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดคือสิ่งที่เราทุกคนต้องทำ
การสำเร็จการศึกษาในวันนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการเริ่มเรียนรู้ใหม่เท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสถาบันการศึกษาจึงมีส่วนสำคัญมากที่จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้
ห้องเรียนทุกชั้นเรียนมีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มกระบวนการสอน "ทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง" ให้กับนักเรียน เพื่อในอนาคตหลังการจบการศึกษาไม่ว่าในระดับชั้นใดก็ตาม ผู้เรียนจะสามารถเริ่มต้นเรียนรู้อย่างต่อเนื่องได้ทันที และตัดชุดความคิดเดิมๆ ที่ว่า "การศึกษานั้นได้จบลงแล้ว" ออกไป