สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ แกนนำและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ท่ามกลาง 3 วิกฤติการณ์สำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนจากกระแสโลก ได้แก่
1. New Normal หรือความปกติใหม่ ซึ่งเป็นผลพวงจากสถานการณ์โรคระบาดโควิดที่ทำให้สังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง และเข้ามาสร้างบาดแผลให้กับโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจไปทั่วโลก
2. World Order หรือระเบียบโลกใหม่ ซึ่งแบ่งเป็น 2 มิติ คือมิติด้านความมั่นคงของขั้วอำนาจที่ต่างแข่งขันกันขยายดุลอำนาจเป็นพหุขั้วอำนาจ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทั้งทางเศรษฐกิจและอำนาจในมือ เช่น กรณีสงครามรัสเซียกับยูเครน และมิติด้านข้อตกลงทางการค้าที่สร้างกำแพงด้วยเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อกำหนดเรื่อง Green Label ของภูมิภาคยุโรป ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งสินค้าส่งออกอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร เป็นต้น
และ 3. Sustainability หรือความยั่งยืน ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อการบริหารเศรษฐกิจคู่ขนานไปกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนทั้ง 2 ด้าน จากแนวโน้มพฤตกิรรมของผู้บริโภคและธุรกิจที่มุ่งสู่สินค้าและบริการที่สร้างผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุด
ทั้งนี้ สนธิรัตน์ ได้มองในทางกลับกันว่า ทั้ง 3 สถานการณ์ดังกล่าว ได้ซ่อนโอกาสทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมไว้ด้วยเช่นกัน ถ้าหากประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมที่ดีและขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยน New Normal ให้เป็น Better Normal ผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ให้เกิดความสมดุลทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ เช่น มาตรการ Work From Home การเข้าสู่สังคมไร้เงินสด หรือ e-Payment และการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ง่ายๆ ด้วยบริการทางการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine รวมถึงการใช้ความได้เปรียบด้านศักยภาพของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติ และความได้เปรียบในด้านการเป็นผู้นำเรื่องพลังงานทดแทน เพื่อก้าวข้ามผ่านกำแพงของ World Order และ Sustainability ไปได้
“ผมเตรียมเสนอให้พรรคสร้างอนาคตไทย ศึกษา 2 นโยบายสำคัญด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยนโยบายแรกคือ นโยบายส่งเสริมเรื่องการบริการทางแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ซึ่งในอนาคตจะเป็นแนวทางสวัสดิการการรักษายุคใหม่และยังจะเป็นเทรนด์ธุรกิจทางการแพทย์ที่จะแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต รวมถึงการเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์โรคระบาด จากบทเรียนสถานการณ์โควิด
นโยบายที่สองคือนโยบาย Carbon Tax เช่น การปรับสร้างภาษีสรรพสามิตรน้ำมัน เพิ่มภาษีคาร์บอน เพื่อนำเงินจากภาษีดังกล่าวมาสนับสนุนพลังงานสะอาด เพื่อลดเงื่อนไขทางเศรษฐกิจให้กับภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศตามเงื่อนไขและเทรนด์การแข่งขันของโลกในอนาคต” สนธิรัตน์ กล่าว