ไม่พบผลการค้นหา
ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ตัดสินให้ยกเลิกแบนการทำแท้ง โดยรัฐสภาเกาหลีใ้ต้จะต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2020

ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ตัดสินให้มีการยกเลิกการแบนการทำแท้ง สิ้นสุดกฎหมายแบนการทำแท้งที่มีมายาวนานถึง 66 ปี ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของฝ่ายสนับสนุนการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย

ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญลงมติ 7 ต่อ 2 เสียงว่า การกำหนดโทษคนทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญ เป็นมติที่เกินจากกฎหมายกำหนดว่าผู้พิพากษา 6 คนจาก 9 คนจะต้องเห็นชอบกับการยกเลิกการแบน โดยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การแบนเป็นการจำกัดสิทธิสตรีในการกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง และละเมิดสิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ปลอดภัย

ศาล ยังระบุอีกว่า ตัวอ่อนต้องพึ่งพาร่างกายของแม่ในการอยู่รอดและพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นจึงไม่อาจสรุปได้ว่า ตัวอ่อนและผู้หญิงเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นอิสระแยกจากกัน จนตัวอ่อนได้รับสิทธิในการมีชีวิตเป็นของตัวเอง

ทั้งนี้ รัฐสภาเกาหลีใต้จะต้องแก้ไขกฎหมายให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ธ.ค.ปี 2020 แต่การยุติการตั้งครรภ์หลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์จะยังคงถือว่าผิดกฎหมายอยู่

ก่อนหน้านี้ ผู้หญิงที่ทำแท้งในเกาหลีใต้จะถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี และถูกปรับมากถึง 2 ล้านวอน หรือประมาณ 55,700 บาท ส่วนแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำแท้งอาจถูกดำเนินคดีและติดคุกสูงสุด 2 ปี

สถาบันเกาหลีเพื่อสุขภาพและกิจการสังคมเคยสำรวจความเห็นของผู้หญิงอายุตั้งแต่ 15 ถึง 44 เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวและพบว่า 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่ากฎหมายนี้ไม่ยุติธรรม เป็นการโยนภาระให้กับผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว และผู้ตอบแบบสอบถามประมาณร้อยละ 20 เปิดเผยว่า เคยทำแท้งมาก่อน แม้จะผิดกฎหมายก็ตาม

กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเมื่อปี 2018 มีผู้หญิงทำแท้งในเกาหลีใต้ 50,000 คน ลดลงจากปี 2011 ที่มีประมาณ 168,000 คน อย่างไรก็ตาม แพทย์หลายคนมีความเห็นว่า ตัวเลขอย่างเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะกฎหมายแบนการทำแท้งทำให้คนไม่กล้าเปิดเผยเกี่ยวกับการทำแท้ง โดยมีการประเมินว่า ตัวเลขจริงจะสูงกว่าที่รัฐบาลระบุเอาไว้ประมาณ 10 เท่า

ไทม์ไลน์การต่อสู้เรื่องเพื่อยกเลิกการทำแท้ง

เมื่อปี 2012 ศาลรัฐธรรมนูญเคยเกือบอนุญาตการทำแท้งได้สำเร็จ โดยผู้พิพากษาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายละ 4 คน แต่ไม่มีอีก 1 เสียงตัดสิน เนื่องจากเก้าอี้ผู้พิพากษาคนที่ 9 ยังว่างอยู่ในขณะนั้น

เมื่อเวลาผ่านไป กระแสการเรียกร้องให้มีการอนุญาตให้ทำแท้งอย่างถูกกฎหมายก็มากขึ้นทั้งภายในเกาหลีใต้เองและจากต่างประเทศ เมื่อปี 2014 ที่แพทย์คนหนึ่งเปิดล่ารายชื่อยกเลิกการแบนการทำแท้ง หลังจากที่เขาถูกดำเนินคดี เนื่องจากทำแท้งตัวอ่อนอายุ 3 เดือน ซึ่งแพทย์คนดังกล่าวระบุว่า การแบนการทำแท้งละเมิดสิทธิของเขาในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ละเมิดความเสมอภาคและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

เมื่อปี 2017 ชาวเกาหลีใต้มากกว่า 235,000 คนร่วมลงชื่อในฎีกาให้มีการอนุญาตการทำแท้ง แต่รัฐบาลในขณะนั้นกลับสัญญาว่า จะปรับปรุงการสอนเพศศึกษา ช่วยเหลือแม่เลี้ยงเดี่ยว และวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น

เมื่อปี 2018 ไอร์แลนด์จัดการลงประชามติแล้วประชาชนลงมติสนับสนุนการอนุญาตให้ทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย แม้คริสตจักรในไอร์แลนด์จะมีอิทธิพลในการต่อต้านการทำแท้งมากกว่าในเกาหลีใต้ ทำให้กระแสการต่อต้านการแบนการทำแท้งในเกาหลีใต้แรงขึ้น

ที่มา : CNN, The Guardian