วันที่ 14 ก.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาแล้วเสร็จ ได้มีสมาชิกขอหารือให้นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถอนกลับไปปรับปรุงหรือทบทวนอีกครั้ง อาทิ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย
’เพื่อไทย-ปชป.’ ชี้ช่องโหว่ ถอนไปแก้
โดย สาทิตย์ หารือว่า ร่างที่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ นั้น เป็นร่างที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ไม่ใช่ร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงอาจไม่ได้รับความเห็นจากส่วนราชการต่างๆ หรือได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งยังมีการแก้ไขทุกมาตรา จึงอาจมีความไม่รอบคอบได้ นอกจากนี้ ตั้งแต่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข วงการทางการแพทย์ วงการทางการศึกษา และพี่น้องประชาชนต่างมีความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว
เช่นเดียวกับ สุทิน ที่ระบุว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ที่คณะกรรมาธิการฯ แก้ไข ไม่มีมาตรการป้องกันหรือห้ามเสพกัญชา แต่เป็นเพียงการบัญญัติว่าห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งสามารถตีความได้ว่าไม่ได้ห้ามเด็กปลูกและเสพกัญชากัญชงในบ้าน แสดงให้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวปล่อยให้ประชาชน และเด็กสามารถเสพกันชงกัญชาได้ แต่ห้ามไม่ให้เสพในที่สาธารณะเท่านั้น เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ และแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาให้ใช้กัญชานอกเหนือจากทางการแพทย์ สามารถใช้ในกิจกรรมนันทนาการได้
อย่างไรก็ตาม ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ได้ทักท้วงว่า เหตุที่เพิ่มมาตราในกฏหมายฉบับนี้ เพราะคณะกรรมาธิการฯ มีความใส่ใจ ป้องกันในทุกๆ ประเด็นที่สมาชิกฯ ได้พูด ถือเป็นร่างที่สมบูรณ์ที่สุด เชื่อว่าท่านอาจจะพูดโดยยังอ่านกฎหมายไม่ละเอียด แม้ไม่ใช่ร่างของรัฐบาล แต่ก็มีตัวแทนจากคณะกฤษฎีกาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
“วันนี้ท่านยังไม่ได้ดูแต่ละมาตราเลย แล้วบอกให้ผมกลับไปแก้ ถ้าท่านเห็นว่ากฏหมายนี้ไม่ดี ก็เป็นเอกสิทธิของท่านในการลงมติ อย่าเพิ่งติเลย ถ้าท่านได้อ่านแต่ละมาตราไป ท่านจะไม่มีเหตุผลเลยที่จะไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ วันนี้เรามาทำกัญชาให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ก้าวข้ามเรื่องการเมืองเถิดครับ” ศุภชัย กล่าว
จากนั้น วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นที่จับตามองของสังคม แต่เมื่อถึงวาระพิจารณากลับมีบรรยากาศที่ไม่สู้ดี ตนขอให้ยึดถือประโยชน์ของประชาชน แม้ขณะนี้กัญชาจะจัดเป็นสมุนไพรควบคุม แต่ก็ยังไม่เห็นสภาพบังคับ และมีปัญหารายวันเกิดขึ้นทั้งในผู้ป่วยและเยาวชน แต่ถ้าจะชักเข้าชักออกเช่นนี้ ควรแก้สุญญากาศให้ได้ก่อน โดยแนะนำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแก้ประกาศของกระทรวงฯ ก่อน
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ในขณะนี้ได้มีผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์แบบใต้ดินมากกว่าครึ่ง และไม่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งการไม่ได้รับการคุ้มครองไม่ได้หมายความว่าเป็นอาชญากร หรือไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ยังไม่มี ส.ส.ออกเสียงคัดค้านประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ไม่มีกัญชาแม้แต่คนเดียว แปลว่าท่านมีส่วนร่วมในการนำกัญชาออกจากยาเสพติด หากจะให้ถอนร่างฯ ดังกล่าว ตนรู้สึกผิดหวังอย่างมาก เนื่องจากทุกคนได้ทุ่มเทยึดถือเพื่อประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง
ส่วน วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ แสดงความเห็นว่าควรให้คณะกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอร่างฯ ก่อน เพราะเชื่อว่าน่าจะได้ปรับปรุงแก้ไขมามาก และมีความรอบคอบพอสมควรในการป้องกันไม่ให้คนเสพเพื่อสันทนาการ
ขณะที่ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ในฐานะกรรมาธิการ เตือนว่าหากถอนร่างฯ นี้ไป ก็อาจเกิดความยืดเยื้อในกระบวนการตรากฏหมาย ดีร้ายอาจจะโดนยุบสภาเสียก่อนที่จะได้พิจารณากันใหม่ สมาชิกฯ ควรนำข้อมูลที่ทราบมาเปิดใจในสภาฯ โดยมองข้ามเรื่องการเมือง และควรรับผิดชอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน
จากนั้น สาทิตย์ จึงได้เสนอญัตติให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปก่อน ขณะที่ ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย จึงได้เสนอญัตติให้ดำเนินการประชุมไปตามระเบียบวาระเดิม เพื่อให้ความเห็นของสภาฯ ช่วยกันแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามทิศทางที่เห็นว่าเหมาะสม
สภาฯ เห็นชอบถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชาสะดุด
จากนั้น สมาชิกฯ จากหลายฝ่ายได้ลุกขึ้นหารือกันอย่างกว้างขวาง กินเวลายาวนานเกือบชั่วโมง และมีหลายพรรคการเมืองเริ่มแสดงความเห็นว่า หากถอนไปทบทวนสักระยะหนึ่งแล้วกลับเข้ามาในสมัยประชุมหน้าอาจจะเหมาะสมกว่า ขณะที่ฝั่งกรรมาธิการฯ ก็ได้พยายามยกเหตุผลโต้แย้ง
ขณะที่ ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น ได้สั่งลงมติว่าจะถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ออกจากระเบียบวาระการพิจารณาหรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ถอนระเบียบวาระออกไป ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 198 เสียง ไม่เห็นด้วย 134 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถอนวาระดังกล่าวออกไปแล้ว จึงส่งผลให้สภาฯ ไม่สามารถพิจารณาวาระต่อไปได้ เพราะไม่ได้ประสานกับผู้เสนอร่างกฎหมายต่อไปไว้ และมีความเสี่ยงที่จะทำให้ร่างกฎหมายนั้นตกไปเนื่องจากขาดความพร้อม ประธานฯ จึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 17.43 น.