เวลา 13.00น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ พร้อมด้วย ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวเทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำเดือนสิงหาคม ของ กทม. ภายใต้ชื่อ “บางกอกวิทยา” เพื่อกระตุ้นความสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เตรียมพร้อมสู่การเป็นนักเทคโนโลยีของประเทศ
สำหรับที่มาของชื่อ ‘บางกอกวิทยา’ ในมุมหนึ่งล้อกับชื่อโรงเรียน โดยจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับเด็ก และอีกมุมหนึ่งก็จะสื่อสารไปถึงผู้คนในชุมชน และผู้คนต่างๆ ได้มากขึ้น
โดย กทม. ได้ร่วมมือกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งเป็นผู้จัดงานอยู่แล้ว มาช่วยประชาสัมพันธ์ และหลังจากนั้น กทม. ก็เข้ามาร่วมด้วย เริ่มจากวันที่ 17 สิงหาคม จะมีการจัดงาน Science Carniwow ที่สามย่านมิตรทาวน์ โดยเชิญโรงเรียนของ กทม. มาร่วมงานด้วย
จากนั้น วันที่ 20-21 สิงหาคม สวทช. จะมาช่วย กทม. จัดงาน KIDBRIGHT ที่พิพิธภัณฑ์เด็ก จากนั้น ในวันที่ 19 สิงหาคม และ 23-24 สิงหาคม จะเป็นการจัดงาน Innovation Week มีงาน Techbite 4.0 ที่ KX กรุงธนบุรี, งาน Fight to Web 3.0 ในวันที่ 23 สิงหาคม และ Techsauce จะร่วมจัดงาน Environment the Future ที่เกษรวิลเลจ
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 23-25 สิงหาคม จะจัดงาน Hack BKK และข้าราชการสำนักต่างๆ ของ กทม. จะร่วม Hack กับ ‘สตาร์ทอัพ’ ด้วย ซึ่งจะจัดขึ้นที่ กทม. เอง โดยจะมีโจทย์ต่างๆ เช่น PM2.5 การจัดการขยะ และจบด้วย Techsauce Global Summit 2022 ที่ไอคอนสยาม
ตอนหนึ่งระหว่างการหารือ ชัชชาติ ระบุว่า การจัดกิจกรรมในลักษณะนี้เป็นนโยบายของ กทม.ในการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งไม่ได้มีแค่มิติดนตรีหรือหนังกลางแปลง แต่วิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องสนุกได้ อาจสนุกเท่ากับดนตรีในสวนเลยก็ได้
“เรื่องวิทยาศาสตร์ เราอยากให้เป็นมุมมอง inclusive คือการรวมทุกคนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ตอนแรกที่ศานนท์บอก ผมก็ถามว่าทำได้เหรอ แต่คิดไปคิดมา วิทยาศาสตร์ก็สนุก มีกิจกรรม และถ้าเราทำเรื่องนี้ให้เป็นประจำ ออกไปตามชุมชน เด็กจะสนใจมากขึ้น คิดเชิงตรรกะ เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น อาจแก้ปัญหาได้ในหลายเรื่อง ส่วนสิ่งอยากทำเพิ่มคือหาเครือข่ายในการจัดกิจกรรม
ชัชชาติ ยังบอกอีกว่า ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา กิจกรรมเหล่านี้ มีหลักการสำคัญคือการแสวงหาพันธมิตร ที่ผ่านมา กทม. เอง ไม่ได้เก่งเรื่องดนตรี ไม่ได้เก่งเรื่องหนังกลางแปลง แต่ กทม. มีพันธมิตรที่เก่ง ทำให้งานทั้งหมดเดินหน้าได้ หรือยกตัวอย่าง กทม. มีพิพิธภัณฑ์เด็ก แต่ กทม. ไม่ได้เก่งเรื่องเนื้อหา ก็ต้องหาพันธมิตรอย่าง อพวช. อย่าง สวทช. เข้ามาช่วย สำคัญคือต้องตอบโจทย์ประชาชนให้ได้
นอกจากนี้ ชัชชาติ ยังมีแนวคิดที่จะทำให้เทศกาลดังกล่าวเริ่มต้นเร็วขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม ด้วยการหาแนวร่วมจากภาคเอกชน จัดทำ Maker Space ซึ่งเป็นเสมือนห้องปฏิบัติการที่คนสามารถเข้ามาสร้างหรือประดิษฐ์สิ่งของได้ อาจจะมีโรงไม้ขนาดย่อม เครื่องพิมพ์สามมิติ มีตัวตัด หรืออุปกรณ์ตัดเย็บต่างๆ เปิดพื้นที่ให้เด็กหรือผู้ที่สนใจสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆตามความฝันเข้ามาลองทำได้ โดยในอนาคต กทม. อาจสามารถทำ Maker Space เป็นของตัวเองได้ด้วย
สำหรับนิทรรศการที่เหลือ ตามนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาล ของ กทม. จนถึงสิ้นปี ในเดือนสิงหาคมเป็นเทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดือนกันยายนเป็นเทศกาลเด็กและเยาวชน เดือนตุลาคมเป็นเทศกาลกีฬากรุงเทพฯ เดือนพฤศจิกายนเป็นเทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ และเดือนธันวาคมเป็นเทศกาลแสงสี ซึ่ง ชัชชาติ บอกด้วยว่า ยังคงปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมได้