ไม่พบผลการค้นหา
ชวนอ่านปากคำและแนวคิดของ 9 พรรคการเมือง พวกเขาคิดเห็นต่อหลักการ ‘พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ต้องได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน’ อย่างไร ประกาศไว้เช่นไร แล้วจะพลิกลิ้นหลังการเลือกตั้งหรือไม่

พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ‘ต้องได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน’ ใช่หรือไม่

คำถามนี่ถูกโยนมาในวงดีเบตหัวข้อ ‘เลือกตั้ง66เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ ตอน ตัวเต็ง!!!’ ดำเนินรายการโดย สรยุทธ สุทัศนะจินดา เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 3 เมษายน นำมาสู่การประชันแนวคิดและจุดยืนของ 9 พรรคการเมืองใหญ่ ที่ถูกมองว่าเป็นตัวเต็งในการเลือกตั้งปี 2566 

ต้องอย่าลืมว่า การที่พรรคการเมืองได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด ต้องได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น คือมารยาททางการเมืองที่ยึดถือกันมายาวนาน จวบจนกระทั่งการเลือกตั้ง 2562 ธรรมเนียมปฏิบัตินี้กลับต้องสิ้นสุดลง โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. มาเป็นอันดับสอง แต่กลับได้เป็นนายกรัฐมนตรีและได้จัดตั้งรัฐบาล ผ่านการประสานเสียงของ ส.ว.  และข้ออ้างว่า งพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนป๊อปปูลาร์ โหวตเยอะที่สุด

ปรากฏการณ์การแหกธรรมเนียมพรรคอันดับหนึ่งต้องจัดตั้งรัฐบาลในปี 2562 ต้องมองย้อนไปที่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเปิดโอกาสให้คนนอกเป็นแคนดิเดตนายกฯ และเพิ่มบทบทบาทของ ส.ว. แต่งตั้งในการโหวตนายกฯ ซึ่งไม่มีเคยมีก่อน อำนาจนั้นลากยาวมาถึงการเลือกตั้งปี 2566 นั่นหมายความว่า แม้พรรคการเมืองนั้นๆ จะได้ที่นั่ง .ส.ส เป็นอันดับหนึ่ง ก็อาจตกอยู่ในสภาพ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซ้ำรอยกับการเลือกตัั้งครั้งที่ผ่านมา

ชวนอ่านปากคำและแนวคิดของ 9 พรรคการเมือง พวกเขาคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร ประกาศไว้เช่นไร แล้วจะพลิกลิ้นหลังการเลือกตั้งหรือไม่ ชวนอ่าน

พรรคเพื่อไทย

แพทองธาร ชินวัตร ​หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ยืนยันจุดยืนว่า พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. มากที่สุด เป็นอันดับหนึ่ง ต้องได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล และถ้าพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงข้างมาก และได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล นายกฯ จะมาจากพรรคเพื่อไทยแน่นอน (ไม่ว่าจะได้เสียงเท่าไหร่ถ้าเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีสูตรให้ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ? - ผู้ดำเนินรายการถาม) ไม่มีแน่นอน (แล้วถ้ามีสูตรนั้นจะให้ทำยังไง - ผู้ดำเนินรายการถาม)  ตอบอย่างอื่นไม่ได้เลย เพราะมันไม่มี 

ถ้าประชาชนไว้ใจเรา เลือกเราเป็นอันดับหนึ่ง แน่นอนว่า นายกต้องมาจากพรรคเพื่อไทยแน่นอน แล้วนายกนี่แหละจะเป็นคนผลักดันนโยบายต่างๆ ให้สำเร็จ  

“พรรคเราอยู่มายาวนาน ถูกยุบ 2 ครั้งแต่ก็ยังอยู่มาได้ เพราะเราทำให้เห็นว่าเราผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ได้จริง” แพทองธารกล่าว

พรรคก้าวไกล

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ​​หัวหน้าพรรคก้าวไกล อยู่บนหลักการว่า พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ‘ต้องได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน’ โดยมองว่า ใครก็ตามที่คิดจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยการเข้าสู่อำนาจนายกรัฐมนตรีได้ด้วยเสียง ส.ว. นั่นถือนรกบนดิน นั่นเพราะว่า แม้จะได้เป็นรัฐบาล แต่คุณกลับผ่านกฎหมายหรือผ่านงบประมาณไม่ได้เลย 

“ราคาที่เราต้องจ่ายระหว่างปี 2562 กับปี 2566 ต่างกันเยอะ เพราะเลือกตั้งครั้งก่อน ส.ว. มีอายุเหลือ 5 ปี แต่ในการเลือกตั้งปีนีั ส.ว. มีอายุเหลือแค่ 1 ปี ถ้าคุณเข้าไปแล้วสภาล่างไม่อนุญาต คุณจะทำได้อย่างไร” 

พิธาเสริมทิ้งท้าย โดยการย้ำเตือนสิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562 ว่า พรรคร่วมฝั่งประชาธิปไตยจับมือกันได้เสียงเยอะกว่านะ แต่ กกต. กลับมากำหนดสูตรคำนวณยอด ‘ส.ส. ที่พึงมี’ ให้แต่ละพรรคเล็กอีก 11 คน ในภายหลัง นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 

พรรคภูมิใจไทย

จุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ระหว่างพรรคที่ได้อันดับหนึ่ง กับพรรคที่ได้อันดับสอง แต่มีเสียง ส.ว. หนุนหลัง อนุทิน ชาญวีรกูล​​ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า 

“ผมจะเลือกพรรคที่เลือกตั้งได้ ส.ส. มากกว่า ยืนยันว่า พรรคที่ได้ดันดับหนึ่งต้องได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าจัดไม่ได้ ก็ไล่ลงมาเป็นอันดับสอง สมมุติพรรคเพื่อไทยได้เสียง 249 ซึ่งมากที่สุด แต่ไม่มีพรรคอื่นร่วมด้วยเลย ก็ถือว่าจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ พรรคอันดับสองก็ได้สิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลต่อ” 

อนุทินย้ำว่า ประเทศไทยควรเปลี่ยนการเมืองเป็น new normal การแตกแยกเป็นฝักฝ่ายควรหมดไป และกลับมาสู่กติกาสากล นั่นคือ ทุกพรรคแข่งขันกันตามกติกา เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว การจะจับขั้วตั้งรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน มันจะเกิดขึ้นโดยที่ใช้เวลาไม่นานเลย 

ผู้ดำเนินรายการถามต่อถึงประเด็นการมีอยู่ของ ส.ว. ที่ยังสามารถมีอำนาจโหวตนายกได้ อนุทินตอบกลับว่า 

“ถ้าจะให้ดีที่สุด เราก็ต้องให้ได้  ส.ส. 376 เสียง จะได้ไม่ต้องไปกังวล ส.ว.  ผมคิดว่าถ้าเรารวบรวมเสียง ส.ส. ได้ แม้แต่ ส.ว. ก็จะต้องฟังเสียงประชาชน ผมพูดตลอดว่า ถ้ารัฐบาลเป็นสียงข้างน้อยในฝั่งสภาผู้แทนราษฎร แล้วให้ ส.ว. มาอุ้มไปเป็นนายกฯ คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนนั้นน่าสงสารที่สุดในโลกนี้ ถามว่าเราจะปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นหรอ ผมว่าถ้าเกิดแบบนั้นขึ้นจริง กรณีที่พรรคเสียงข้างน้อยจะใช้ ส.ว. มาจัดตั้งรัฐบาล ผมคิดว่ามันต้องมีกลไกอะไรสักอย่างมาทำให้พรรรคเสียงข้างมากได้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้”

พรรคพลังประชารัฐ

ในหลักการ อุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบายพรรคพลังประชารัฐ มองว่า หนึ่ง - พรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่ง มีสิทธิ์เสนอคนของตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี สอง - พรรคพลังประชารัฐมั่นใจว่ามีสิทธิ์เสนอพลเอกประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรี

“แต่หากพรรคใดก็ตามรวบรวมเสียงได้เกิน 250 ผมว่า ส.ว. ไม่สามารถฝืนเจตจำนงของประชาชนได้ แล้วถ้าพรรคพลังประชาชนรัฐได้เสียง ส.ส. น้อยกว่า 250 เสียง เราก็เคารพประชาชน”

“ผมพูดแทนพรรคได้ ยืนยันว่า ให้พรรคอันดับหนึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรี” อุตตมย้ำ

พรรคประชาธิปัตย์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบในประเด็นนี้ว่า “บ้านเราใช้ระบบรัฐสภา ใครรวมเสียงข้างมากได้ ก็จะได้เป็นรัฐบาล คำว่ารวมเสียงข้างมากได้แปลว่า รวมเสียง ส.ส. ที่ประชาชนมอบให้มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง เขาก็จะได้เป็นรัฐบาล”

ผู้ดำเนินรายการยกกรณีการเลือกตั้ง 2538 ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นถือว่าสูสีมาก นั่นคือ พรรคความหวังใหม่ชนะพรรคประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่ง แต่พรรคความหวังใหม่ก็ได้จัดตั้งรัฐบาล โดย ชวน หลักภัย ประกาศสละสิทธิ์ และยึดหลักพรรคอันดับหนึ่งได้จัดตั้งรัฐบาล  

จุรินทร์ ตอบกรณีนี้ว่า “ท่านชวนไปประกาศว่า ท่านขอเป็นที่หนึ่งเท่านั้นจึงจะตั้งรัฐบาล ถ้าไม่ได้ที่หนึ่ง ก็จะไม่ตั้ง ซึ่งครั้งนั้นท่านแพ้ 2 เสียง จึงเป็นที่มาของการที่พรรคความหวังใหม่ได้เป็นรัฐบาล” 

เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ถามแทรกขึ้นมาว่า “หลักการของท่านจุรินทร์อยู่ที่ไหน” จุรินทร์ตอบว่า “หลักการคือระบบรัฐสภาสากลครับ” 

จุรินทร์ อธิบายต่อในช่วงท้ายว่า “ผมคิดว่าเรื่องนี้ ประชาชนควรได้เลือกก่อน ไม่ใช่อยู่ๆ จะมาจับขั้วตั้งพรรครัฐ ประชาชนยังไม่ได้เลือกตั้งเลยครับ ไม่เช่นนั้นเราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม”

ด้านแพรทองธารเเย้งว่า จริงอยู่ที่ต้องให้ประชาชนเลือกก่อน แต่การที่มาถกเถียงเรื่องพรรคอันดับหนึ่งต้องได้จัดตั้งรัฐบาลก่อนนั้น คือแนวคิดว่า เราคิดประมาณไหนไว้ เพราะแม้ประชาชนจะเลือกตั้งแล้ว มันก็ยังมีปัจจัยอีกมากมายทำให้พรรครวมเสียงกันได้ รวมเสียงกันกันไม่ได้ และต้องตกลงกันก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรากำลังคุยกันบนแนวคิดง่ายๆ ว่า นายกฯ ต้องมาจากพรรคที่ได้รับคะแนนมากที่สุด ประชาชนเลืออมากที่สุด นี่คือจุดยืน 

พรรครวมไทยสร้างชาติ

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “เรากำลังพูดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งตอนนี้มันยังไม่เกิด ผมคิดว่า ประเด็นนี้ควรพูดตอนที่เลือกตั้งเสร็จแล้ว” 

พรรคไทยสร้างไทย

สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์​ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า ตามหลักการแล้วต้องให้พรรคอันดับหนึ่งได้สิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล แต่ที่ผ่านมากลับไม่ใช่เช่นนั้น เพราะมีทั้ง ‘งูเห่า’ และการซื้อตัว ส.ส.หน้างาน ดังนั้น หากพรรคการเมืองไม่ยึดถือหลักการดังกล่าว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ พรรคที่ได้ ส.ส. มาก จะไปจับมือกับพรรคทีได้ ส.ส. มาก ผสมข้ามขั้วข้ามพันธุ์ ท้ายที่สุด แม้วันนี้ทุกคนจะยืนยันตามหลักการที่ควรจะเป็น แต่พอหลังเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็อาจไม่เห็นหัวประชาชน 

“ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เรายังมี ส.ว. ที่มีอายุอีก 1 ปี สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ บางพรรคอาจไปจับมือกับพรรคที่มี ส.ว. หนุนหลัง  นี่แหละคือสิ่งที่น่าหลัว”

พรรคชาติพัฒนากล้า

กรณ์ จาติกวณิช ​​หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า มารยาททางการเมืองหรือมาตรฐานสากลของโลก จะยึดหลักการว่าพรรคอันดับหนึ่งมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ในหลักการรัฐสภาไทย จะใช้หลักการเสียงข้างมาก 

ทั้งนี้ทั้งนั้น กรณ์ไม่ได้ประกาศจุดยืนของพรรคต่อเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่บอกว่า “เท่าที่ผมได้ยิน ทุกคนพูดเหมือนกันว่า พรรคอันดับหนึ่งควรมีโอกาสได้ตั้งรัฐบาลก่อน และไม่ยอมรับรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่จะใช้อำนาจ ส.ว. มาเลือกนายกฯ” 

พรรคเสรีรวมไทย

“พรรคไหนได้อันดับหนึ่ง ก็ต้องให้เขาจัดตั้งรัฐบาล” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ​หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยกล่าว