วันที่ 14 ธ.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ที่มี ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม วาระกระทู้ถาม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามเรื่อง ประกาศกระทรวงพาณิชย์ในการนำเข้าข้าวโพดโดยเก็บภาษีนำเข้า 0% ที่มีผลกระทบต่อปัญหาฝุ่น PM 2.5
โดย ภัทรพงษ์ กล่าวว่า ข้อมูลในสถิติชี้ว่า ในปี 2565 ไทยได้นำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์จากประเทศเมียนมาร์ มากถึง 97% ของการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ทั้งประเทศ กว่าครึ่งของพื้นที่ปลูกข้าวโพดอยู่ในรัฐฉาน ซึ่งใกล้กับชายแดนภาคเหนือของไทย และมีข้อบ่งชี้ว่า ฝุ่นพิษส่วนใหญ่ในไทยมีที่มาจากการเผาไหม้ในต่างแดน
ภัทรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ภาคเหนือของประเทศไทยต้องเผชิญกับฤดูฝุ่นเกือบ 5 เดือนต่อปี และหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยตนเองเชื่อว่ารัฐมนตรีทราบดีว่าใครเป็นผู้ขายข้าวโพดอาหารสัตว์ให้ประเทศเพื่อนบ้าน และใครเป็นผู้นำเข้า อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ภายใต้การค้าเสรีอาเซียน เพื่อนำเข้าแบบปลอดภาษีได้ เป็นผลดีกับผู้เลี้ยงสัตว์ แต่จะรับมือกับผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ในประกาศดังกล่าวกำหนดว่า สินค้าที่นำเข้ามาต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงตั้งคำถามขอหลักฐานดังกล่าวจากกระทรวงพาณิยช์ และได้ดำเนินการใดไปแล้วบ้างหลังจากวันแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อปัญหาฝุ่นพิษที่กำลังเรื้อรังขณะนี้
ด้าน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้ นรินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกระทู้แทน โดย นรินทร กล่าวว่า เนื่องด้วยข้าวโพดของประเทศเพื่อนบ้านราคาถูกกว่า จึงจะมีการนำเข้าในช่วง ก.ย.-ม.ค. ซึ่งบริษัทเดียวที่นำเข้าได้คือ องค์การคลังสินค้า ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
สำหรับมาตรการเรื่องฝุ่น PM 2.5 ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า ประเทศไทยมีมาตรการห้ามเผาข้าวโพดเช่นเดียวกับข้อกำหนดที่ห้ามนำเข้าข้าวโพดที่เกิดจากการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการเผาข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นสาเหตุของสุขภาพที่แย่ลงของประชาชน ตลอดจนต้องพิสูจน์ว่า การเผาข้าวโพดเป็นสาเหตุเดียว ไม่ใช่เพราะการเผาป่าของชาวบ้านในไทย เพราะการคมนาคม หรือเหตุอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้สอดคล้องกับการค้าโลก เพื่อศึกษาแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนในชั้นต้นในขั้นตอนการผลิตพืชอาหารสัตว์ พร้อมตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์
“ปัญหา PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่และสำคัญ รัฐบาลเองก็ให้ความห่วงใย แต่การทำงานต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO) และของเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ด้วย การปฏิบัติต่อประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ เราต้องปฏิบัติกับประเทศเราเช่นเดียวกัน ต้องเป็นประเทศที่เป็นกลาง” นรินทร กล่าว