ซาราห์ เจ บลูมฟีลด์ ผู้อำนวยการโฮโลคอสต์ มิวเซียม แห่งสหรัฐฯ หรือพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเมื่อวานนี้ (7 มี.ค.) เพื่อชี้แจงเหตุผลที่ทางพิพิธภัณฑ์ถอดถอนรางวัล 'เอลี วีเซล' ที่เคยมอบให้แก่ซูจีเมื่อปี 2555
เนื้อหาในจดหมายระบุว่าทางพิพิธภัณฑ์เห็นใจใน 'ภาวะยากลำบาก' ที่อองซาน ซูจี ต้องเผชิญกับเครือข่ายอำนาจในกองทัพ ซึ่งมีอิิทธิพลในเมียนมามายาวนานหลายทศวรรษ แต่การระงับยับยั้งการใช้กำลังทหารก่ออาชญากรรมและก่อความรุนแรงต่อประชากรที่เปราะบาง ต้องอาศัยสามัญสำนึกทางจริยธรรมของผู้นำ ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้เรียกร้องให้ซูจีร่วมมือกับสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง และนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิดโดยไม่เลือกปฏิบัติ และการแสดงจุดยืนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เธอกระทำได้ในฐานะที่เป็นทั้งมุขมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเมียนมา
อย่างไรก็ตาม ทางพิพิธภัณฑ์เห็นว่าอองซาน ซูจี ล้มเหลวที่จะระงับยับยั้งหรือป้องปรามการใช้กำลังลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา จึงมีความเสียใจอย่างยิ่งที่ต้องถอดถอนรางวัลดังกล่าวของซูจี เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงและชะตากรรมของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2556 หลังเกิดความขัดแย้งนองเลือดในยะไข่ครั้งแรกเป็นต้นมา
เอลี วีเซล นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2529 ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ฯ ตั้งชื่อรางวัลเพื่ออุทิศให้ กล่าวไว้ว่า "ความเป็นกลางช่วยผู้กดขี่ แต่ไม่เคยช่วยผู้ถูกกดขี่ ความเงียบสนับสนุนผู้ทรมาน แต่ไม่เคยสนับสนุนผู้ทุกข์ทน"
ในปี 2559-2560 ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดนิทรรศการเรียกร้องความสนใจจากผู้ชมในสหรัฐฯ และนานาประเทศ รวมถึงกดดันรัฐบาลเมียนมา ให้หาทางคุ้มครองชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาและป้องกันการล้างเผ่าพันธุ์ในเมียนมา โดยมีการเผยแพร่เอกสารที่เป็นบันทึกการให้ปากคำและหลักฐานของชาวโรฮิงญาที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในรัฐยะไข่ เพราะตระหนักดีว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น 'การล้างเผ่าพันธุ์'
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้การถอดถอนรางวัลของพิพิธิภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งสหรัฐฯ โดยระบุว่าทางการเมียนมาก็รู้สึกเสียใจเช่นกันที่พิพิธภัณฑ์ตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลที่บิดเบือนและโจมตีสถานการณ์ในรัฐยะไข่โดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อองซาน ซูจี ถูกองค์กรต่างประเทศถอดถอนรางวัลที่เคยมอบให้ ก่อนหน้านี้มีการถอดรางวัลสภาเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดและรางวัลเสรีภาพแห่งดับลิน รวมถึงมีคำสั่งปลดภาพซูจีจากอาคารในอ็อกซ์ฟอร์ดซึ่งเธอเคยเป็นศิษย์เก่า เพราะรางวัลส่วนใหญ่มอบให้แก่ซูจีในฐานะที่เธอต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธีเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา แต่เมื่อพรรครัฐบาลเอ็นแอลดีของเธอได้รับเลือกเป็นรัฐบาลพลเรือน และมีอำนาจในการบริหารประเทศ เธอกลับปฏิเสธที่จะคุ้มครองสิทธิของพลเรือนชาวโรฮิงญา
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งระบุว่า ผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลเอ็นแอลดีของอองซาน ซูจี ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธที่มีแนวคิดต่อต้านชาวมุสลิม ทำให้ซูจีและพรรครัฐบาลไม่สามารถดำเนินนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อฐานเสียงได้ จึงยังปล่อยให้มีการบังคับใช้กฎหมายเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายห้ามชาวโรฮิงญาย้ายถิ่นที่อยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น หรือห้ามชาวโรฮิงญาแต่งงานกับคนต่างเชื้อชาติ ทั้งยังเรียกชาวโรฮิงญาว่า 'เบงกาลี' ซึ่งมีนัยว่าเป็นกลุ่มคนที่สืบเชื้อสายจากชาวบังกลาเทศ ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเมียนมา
ส่วนความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่รอบใหม่เริ่มขึ้นในปี 2556 แต่เหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24-25 ส.ค.ปีที่แล้ว เริ่มจากกองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา เปิดฉากโจมตีทหารและตำรวจเมียนมาหลายจุด ทำให้กองทัพเมียนมาตอบโต้ แต่ขณะเดียวกันก็มีการใช้กำลังขับไล่พลเรือนชาวโรฮิงญา มีการเผาทำลายบ้านเรือน ข่มขืน และสังหารประชาชนที่ไม่มีอาวุธ ทำให้ชาวโรฮิงญาลี้ภัยไปยังชายแดนบังกลาเทศกว่า 600,000 คน จนสหประชาชาติระบุว่านี่คือการลบล้างเผ่าพันธุ์
นอกจากนี้ นักข่าวเมียนมา 2 ราย ได้แก่ วา โลน และจอ โซ อู ซึ่งทำงานให้กับสำนักข่าวรอยเตอร์ ยังถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลของทางการให้แก่ต่างชาติ เป็นผลสืบเนื่องจากการรายงานข่าวสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ซึ่งเหตุการณ์หนึ่งพาดพิงถึงนายทหารเมียนมาที่ออกคำสั่งให้พลเรือนในรัฐยะไข่มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว และกองทัพเมียนมาออกมายอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ให้เหตุผลว่าทหารจำเป็นต้องทำเพื่อป้องกันตัวเอง
อ่านเพิ่มเติม: