นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทาน และกรมฝนหลวงการบินเกษตรไปปรับระบบการรายงานสถานการณ์น้ำใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนให้กระชับเข้าใจง่ายขึ้น โดยให้รายงานให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำและการปฏิบัติการฝนหลวงในปัจจุบัน อาทิ แหล่งน้ำในปัจจุบันมีน้ำเหลือเท่าไร หากเกิดภัยแล้งจะมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค การเกษตร และอุตสาหกรรมเท่าไร รวมทั้งการปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 9 สถานี ในแต่ละครั้งเพิ่มปริมาณน้ำได้เท่าไร
อย่างไรก็ตาม ปีนี้มีระบบเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำและการคาดการณ์ที่แม่นยำ จึงมั่นใจได้ว่ามีน้ำเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับได้ปรับแผนลดพื้นที่ทำนาปรัง เป้าหมาย 2 ล้านไร่ในโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เพื่อให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว ผัก ข้าวโพด
“กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย โดยสนับสนุนให้ปลูกในเขตชลประทาน ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติโครงการฯ ในพื้นที่ 33 จังหวัด เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือทั้งการหาที่รับซื้อ และการประกันราคา นอกจากนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้ามามีบทบาทให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันจำหน่ายเพื่อหาที่รับซื้อได้ง่ายขึ้น มั่นใจการดำเนินโครงการฯ มีความสำเร็จไม่น้อยกว่าร้อยละ 60” นายกฤษฎา กล่าว
ขณะนี้ ได้ดำเนินการสำรวจเกษตรกรครบเรียบร้อยแล้ว โดยสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปัจจัยการผลิตให้เกษตรกร ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 เป็นระยะเวลา 6 เดือน และสินเชื่อเพื่อสนับสนุนสถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมผลผลิต ดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ระยะเวลา 6 เดือน โดยประสานภาคเอกชนเข้ามารับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่าย รวมทั้งการประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัติ โดยรัฐสนับสนุนเบี้ยประกันภัย 65 บาท/ไร่ ให้กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ หากเกษตรกรได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติจะได้รับการชดเชยไร่ละ 1,500 บาท อีกทั้งได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเจรจากับสมาคมผู้ประกอบการอาหารสัตว์ สมาคมพืชไร่ เพื่อวางระบบการรับซื้อก่อนเริ่มโครงการ