ไม่พบผลการค้นหา
สภาปัญญาสมาพันธ์ เสนอ 6 ยุทธศาสตร์พัฒนาไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง พร้อมก้าวสู่ประเทศรายได้สูง แนะรัฐใช้กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ขณะที่ผู้เขียนหนังสือ ‘บทเล็คเชอร์ที่จีน’ ชี้สถานการณ์ประเทศดีขึ้นได้ ต้องอาศัยหลักนิติธรรม คือ ผู้บังคับใช้กฏหมายต้องเป็นกลาง มีกระบวนการยุติธรรมและรัฐธรรมนูญที่ดี

นายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา เปิดเผยผลวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่ประเทศรายได้สูง ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) เพราะไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (innovation-driven economy) จึงไม่สามารถรักษาการเติบโตในระดับสูงไว้ได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทย มีทรัพยากรจำกัด จึงควรมียุทธศาสตร์ในการจัดการกับทางเลือกต่างๆ อย่างเหมาะสม ดังนั้น ไทยควรมียุทธศาสตร์และกลไกขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 

1. เพิ่มการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา โดยการจัดทำโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านการวิจัยและพัฒนา 

2. ยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง 

3. พัฒนาเศรษฐกิจภาคบริการ โดยเปิดเสรีภาคบริการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตร 

4. ขยายตลาดส่งออก โดยการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเกษตรส่งออก 

5. ลดต้นทุนโลจิสติกส์ โดยการผลักดันการขนส่งระบบราง และพัฒนาศักยภาพการบริหารสินค้าคงคลัง 

6. ลดการพึ่งพาการนำเข้า โดยส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อลดการนำเข้าพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ด้าน ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา และประธานสถาบันการสร้างชาติ กล่าวว่า การสร้างชาติให้มั่นคงและยั่งยืน คือ ต้องกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับพัฒนาประเทศ โดยคำนึงถึงโครงสร้างและความซับซ้อนของโลกปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากปัจจัยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการวางกลยุทธ์ที่ถูกต้องและเหมาะสมของรัฐบาล พร้อมกัน 5 ด้าน ได้แก่ 

1. กลยุทธ์ต้องเข้าใจได้ง่าย เพื่อลดความไม่แน่นอนและช่วยผู้ที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์สถานการณ์และตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่น นโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยน

2. กลยุทธ์การร่วมมือกัน โดยเพิ่มการสื่อสารให้มากขึ้นระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสัมคม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 

3. กลยุทธ์กระจายอำนาจ เพื่อช่วยให้การตัดสินใจนโยบายภาครัฐเกิดประสิทธิผลมากขึ้น เช่น การกระจ��ยอำนาจด้านการศึกษาให้โรงเรียนต่างจังหวัด ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น 

4. กลยุทธ์ด้านระบบดิจิตอล โดยนำเอาระบบดิจิตอลมาช่วยการจัดอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความซับซ้อนและจำนวนคนที่เกี่ยวข้อง 

5. กลยุทธ์การมองจากภายนอก โดยภาครัฐควรใช้นโยบายเชิงรุกในเวทีระหว่างประเทศ เช่น การเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งการรวมกลุ่มระหว่างประเทศ เป็นต้น

ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.โฮเซ สเตลเล่ ผู้เขียนหนังสือ ‘บทเล็คเชอร์ที่จีน’ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน มีอิทธิพลมาจากแรงกดดันหลัก 2 ประการ คือ 1. ระบบสังคมนิยม และ 2. แรงกดดันอื่นที่คล้ายกับระบบสังคมนิยม สิ่งที่จะช่วยให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นได้ จำเป็นต้องอาศัย “หลักนิติธรรม” ประกอบด้วย กฏหมายต้องถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์กับคนในประเทศ ต้องมีความเสมอภาคในการใช้กฏหมาย 

ผู้บังคับใช้กฏหมายต้องเป็นกลาง และต้องมีกระบวนการยุติธรรมและรัฐธรรมนูญที่ดี ควบคู่กับการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพภายใต้กฏหมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขในสังคม ซึ่งในภาพรวมจะก่อให้เกิดความสามัคคีและประเทศชาติที่เข้มแข็ง และนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก