ไม่พบผลการค้นหา
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เดินหน้าแผนการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว เพื่อเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของประเทศและของโลกในอนาคต

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงแผนการพัฒนาฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แบ่งการฟื้นฟูออกเป็น 3 แนวทาง ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะระยะยาว ประกอบด้วย การบริหารจัดการ ในระยะเร่งด่วน คือ แบ่งเขตการบริหารจัดการให้มีความชัดเจน ด้วยการกำหนดเขตบริการ อาคารสถานที่ ลานจอดรถ และห้องน้ำ , เขตนันทนาการ ที่นั่งพัก สนามหญ้า และถ้ำต่างๆ , เขตสงวนหรือหวงห้าม พื้นที่ป่าโดยรอบของพื้นที่วนอุทยานที่มีความเปราะบาง และกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ การเข้า –ออกภายในถ้ำหลวงฯ จัดการให้มีความชัดเจน การจัดให้มีอัตรากำลัง เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเฉพาะด้าน การจัดให้มียานพาหนะ , รถกู้ภัยขนาดเล็ก 1 คัน 

ส่วนระยะยาว คือ การจัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและรักษาความปลอดภัย ด้วยการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 1 หลัง , การจัดนิทรรศการบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว พร้อมด้วยอุปกรณ์ชุดกู้ภัย ระบบการสื่อสารอย่างเต็มรูปแบบ 

ขณะที่การรักษาความปลอดภัย คือ ระยะเร่งด่วน ติดตั้งกล้องวงจรปิด 3 แห่ง แห่งละ 16 ตัว บริเวณแหล่งท่องเที่ยวถ้ำหลวง บริเวณแหล่งท่องเที่ยวขุนน้ำนางนอน และบริเวณภายในถ้ำหลวง , ปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าส่องสว่างภายในและนอกถ้ำ , การจัดทำระบบช่วยเหลือฉุกเฉิน โดยการกำหนดจุดเพื่อส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือมายังศูนย์รักษาความปลอดภัย , การจัดทำระบบป้ายสื่อความหมายต่างๆ เช่น ป้ายผังบริเวณ ป้ายบอกทิศทางและข้อห้ามต่างๆตามจุดเสี่ยง , การติดตั้งระบบตรวจวัดระดับน้ำและการแจ้งเตือน เป็นการติดตั้งระบบการตรวจวัดระดับน้ำตามลำห้วย เพื่อแจ้งเตือนภัยภายในปากถ้ำหลวง , การกำหนดขอบเขตมาตรการควบคุมการเข้า-ออก ของถ้ำหลวงฯ โดยการทำรั้วหรือประตูเข้าภายในถ้ำหลวง

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวย้ำว่า ส่วนการฟื้นฟูระยะเร่งด่วน จะปรับปรุงและพัฒนาภูมิทัศน์ 2 แห่ง บริเวณแหล่งท่องเที่ยวถ้ำหลวงและบริเวณแหล่งท่องเที่ยวขุนน้ำนางนอน ด้วยการปลูกหญ้าจัดสวน จัดทำทางเดินเท้า จัดให้มีลานจอดรถ ที่นั่งพักบริเวณแหล่งท่องเที่ยวและป้ายสื่อความหมายต่างๆ , การปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 

โดยการปรับปรุงพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติภายในถ้ำหลวงระยะทาง 1,000 เมตร พร้อมระบบสื่อความหมายต่างๆ และการปรับปรุงฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำบริเวณถ้ำทรายทองบริเวณขุนน้ำนางนอน , การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ดำเนินการค้นหาและกู้ภัยให้กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยการฟื้นฟู ตกแต่ง หรือปลูกต้นไม้ ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม 3 แห่ง บริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์บ้านผาหมี บริเวณหลุมหรือปล่องถ้ำ 12 จุด และบริเวณที่มีการปิดกั้นเส้นทางน้ำและฝาย 5 จุด ส่วน

ขณะที่ การฟื้นฟูระยะยาว ปรับปรุงและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างของวนอุทยาน โดยการปรับปรุงซ่อมแซม อาคารที่ทำการวนอุทยาน 1 หลัง อาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่ 4 หลัง อาคารศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว 1 หลัง ห้องน้ำ-ห้องสุขา 1 หลัง และปรับปรุงซ่อมแซมโรงจอดรถ 1 หลัง , การปรับปรุงและพัฒนาถนนลาดยางแบบมีไหล่ทาง และรางน้ำภายในและภายนอกของแหล่งท่องเที่ยววนอุทยานถ้ำหลวงฯ ระยะทาง 10 กิโลเมตร โดยการปรับปรุงและพัฒนาถนนบริเวณแหล่งท่องเที่ยวถ้ำหลวง และแหล่งท่องเที่ยวขุนน้ำ-นางนอน , ปรับปรุงพัฒนาระบบสาธารณูปโภค โดยการปรับปรุงระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และระบบประปาที่เชื่อมต่อจากระบบน้ำบาดาล บริเวณถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งจะออกแบบและคำนวณงบประมาณต่อไป