ไม่พบผลการค้นหา
แถลงผลประชุม ครม. ด้านเศรษฐกิจ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรียืนยันจีดีพีไตรมาส 3 ทรุดเป็นผลจากปัจจัยภายนอก ส่่วนเศรษฐกิจภายในประเทศยังแกร่ง ทีมโฆษกรัฐแจกแจง "ของแจก" ได้ครบตั้งแต่ชาวสวนยาง-ปาล์ม ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้าราชการ มนุษย์เงินเดือน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมด้วยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกนัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ร่วมแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 20 พ.ย. โดยมีรายละเอียดดังนี้  

_H2A2223.JPG

ยันเศรษฐกิจไทยยังดี แต่จีดีพีตกเพราะสงครามการค้าโลก

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2561 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเมื่อดูอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่าเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ได้มีปัญหา ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนภาครัฐและเอกชน ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 5.0, 2.1 และ 3.9 ตามลำดับ ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาทั้งหมด

แต่ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2561 คือผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อการส่งออกของไทยและภาวะชะลอตัวของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งในไตรมาส 3/2561 อัตราการเติบโตด้านการท่องเที่ยวขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ขณะที่การส่งออกเติบโตติดลบร้อยละ 0.2

อย่างไรก็ดี ยังมีความเชื่อมั่นสูงว่าแม้ตัวเลขจีดีพีจะต่ำลง แต่ทิศทางยังดี เมื่อดูจากตัวเลขการนำเข้าที่เติบโตสูงขึ้นถึงร้อยละ 10.7 ในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 และ 2 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.7 และ 8.3 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นความมั่นใจของผู้บริโภค

_H2A2313.JPG

เร่งหน่วยราชการส่งร่างก่อหนี้ผูกพันภายใน 14 ธ.ค. นี้

นายพุทธิพงษ์กล่าวถึงการปรับเปลี่ยน พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2562 ว่า ในกรณีที่มีกระทรวง ทบวง กรม ใดๆ ต้องการเสนอโครงการที่มีหนี้ผูกพันเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องนำเสนอผ่าน ค.ร.ม. ก่อน โดยสำหรับปีงบประมาณ 2562 จะต้องมีการยื่นรายละเอียดโครงการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2561 และจะต้องมีการดำเนินการก่อหนี้ภายในเดือนกันยายน 2562 มิฉะนั้นจะถือว่าหนี้ผูกพันที่ยื่นตกไป และต้องรอยื่นเรื่องใหม่ในปีงบประมาณหน้า

อนุมัติ 1.86 หมื่นล้านบาท อุ้มสวนยาง รับชดเชยไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่

ส่วนเรื่องราคายางตกต่ำ นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ครม. ลงมติเห็นชอบในหลักการและเห็นถึมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนด้วยการให้ความช่วยเหลือตามพื้นที่สวนยาง โดยจ่ายชดเชยให้ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ แบ่งเป็นเจ้าของสวนยาง 1,100 บาท และคนกรีดยาง 700 บาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่มีสวนยางพร้อมเปิดกรีด จำนวน 999,065 ราย และคนกรีดยาง 304,266 ราย คิดเป็นพื้นที่เปิดกรีดแล้วรวม 10,039,672.29 ไร่ คิดเป็นงบประมาณรวมทั้งหมด 18,604,950,203 บาท โดยแบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง รัฐบาลจ่ายชดเชย ธ.ก.ส. ที่ สำรองจ่ายไปก่อน และให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563

ส่วนเกษตรกรเจ้าของสวนยางอีกประมาณ 4 ล้านไร่ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ภาครัฐจะหารือหาความช่วยเหลือต่อไป

การช่วยเหลือครั้งนี้มีกรอบการดำเนินงานทั้งสิ้น 10 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ไปถึงเดือนกันยายน 2562 โดยคาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางได้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป  

4 มาตรการเพิ่มเติม ในบัตรคนจน

ด้านความก้าวหน้าการดำเนินงานประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ครม. ได้ลงมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม 4 มาตรการ

1) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ถึง กันยายน 2562 ถ้าผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้ค่าไฟและค่าน้ำไม่เกิน 230/ครัวเรือน/เดือน และ 100/ครัวเรือน/เดือน ตามลำดับ จะได้รับการยกเว้นการเก็บเงินจากภาครัฐ โดยให้ผู้ถือบัตรไปจ่ายเงินตามบิลเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟจากนั้นนำใบเสร็จมายื่นให้หน่วยงานภาครัฐ เพื่อได้รับเงินโอนคืนเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยรัฐบาลจะตั้งงบประมาณไว้ที่ 27,060 ล้านบาท

2) สนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปีแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้มีเงินซื้อสินค้าและบริการช่วงปลายปี รายละ 500 บาท/คน ในเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นการให้เงินครั้งเดียว และใช้เงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท

3) ผู้ถือบัตรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะได้รับเงิน 1,000 บาท/คน ซึ่งเป็นการให้เงินครั้งเดียวเพื่อหวังช่วยเหลือผู้สูงอายุในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ภายใต้เงินงบประมาณ 3,500 ล้านบาท

4) รัฐบาลช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาท/คน/เดือน ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้งบประมาณ 920 ล้านบาท

โดยทั้ง 4 มาตรการนี้ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะใช้เงินช่วยเหลือจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม รวม 38,730 ล้านบาท จากงบประมาณที่มีอยู่ทั้งสิ้น 55,000 ล้านบาท

_H2A2297.JPG

แก้ปัญหาราคาปาล์มตก อนุมัติ กฟผ. รับซื้อ 1.6 แสนตัน ที่กิโลกรัมละ 18 บาท

ขณะที่เรื่องราคาปาล์มน้ำมัน นายณัฐพร กล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติเห็นชอบให้ กฟผ. รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญ เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดย กฟผ. จะรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 160,000 ตัน ที่ราคากิโลกรัมละ 18 บาท ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึง กุมภาพันธ์ 2562 โดยคาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 576 ล้านหน่วย 

สำหรับเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงกับรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าทั้งหมดอยู่ที่ 1,354 ล้านบาท โดยกฟผ. จะขอรับเงินชดเชยในวงเงินเพียง 525 ล้านบาท

ส่วนกรมการค้าภายในรับผิดชอบในการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งปัจจุบันมีน้ำมันปาล์มดิบอยู่ประมาณ 240,000 ตัน ดังนั้นการดูดซับปาล์มออกไป 160,000 ตัน จะเป็นการช่วยเรื่องอุปทานส่วนเกินได้

เห็นชอบแก้กฎหมาย เพิ่มบำนาญ-ขยายเพดานบำเหน็จ ขรก.

ส่วนเรื่องเงินค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ครม. มีมติเห็นชอบให้แก้ไขร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเลี้ยงหวัดบำนาญ มีใจความว่ารัฐจะช่วยสมทบเงินส่วนต่างให้ผู้ที่ได้รับเบี้ยหวัดต่างๆ ที่มีมูลค่ารวมต่อเดือนไม่ถึง 10,000 บาท ให้ได้ครบ 10,000 บาท (2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับเงินดำรงชีพ มีใจความว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี สามารถเบิกเงินได้ไม่เกิน 200,000 บาท ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี สามารถเบิกเพิ่มได้อีก 200,000 บาท และผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี สามารถเบิกเพิ่มได้อีก 100,000 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 500,000 บาท 

เพิ่มสิทธินักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 ประเทศ ได้ Visa on Arrival

นายฌัฐพรยังกล่าวถึงประเด็นที่ ครม. ลงมติเห็นชอบการพิจารณากำหนดสิทธิการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว สิทธิขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival - VoA) และสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว พำนักได้ไม่เกิน 30 วัน (ผ.30) โดยกำหนดให้เพิ่มสิทธิขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (VoA) อีก 4 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก วานูอาตู นาอูรู และจอร์เจีย รวมเป็น 18 ประเทศ และ 1 เขตเศรษฐกิจพิเศษ

ด้าน ผ.30 กำหนดให้เพิ่มประเทศ ลัตเวีย ลิทัวเนีย อันดอร์รา ซานมารีโน ยูเครน มัลดีฟส์ และมอริดชียส รวมเป็น 55 ประเทศและ 1 เขตบริหารพิเศษ 

เงินเดือนต่ำ 25,000 บาท ซื้อบ้านไม่เกินล้าน ธอส. คิดดอกเบี้ยคงที่ 3% นาน 5 ปี

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบโครงการบ้านล้านหลังของธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. โดยเป็นการให้สินเชื่อราคาถูกเพื่อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยในระยะแรกมีงบประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งให้ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 25,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 1 - 5 คงที่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี

ส่วนผู้ที่มีรายได้มากกว่า 25,000 บาท อัตราดอกเบี้ยในปีที่ 1 - 3 คงที่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี

โดยผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 25,000 บาทต่อเดือนจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และค่าจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง

ส่วนผู้ที่มีรายได้มากกว่า 25,000 ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของธนาคาร โดยโครงการนี้ ธอส. จะขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพียง 3,876 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ ธอส. จะเป็นผู้รับผิดชอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :