ไม่พบผลการค้นหา
"องอาจ" ฝาก สนช.-กกต.-กรธ. พิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว. ตรงไปตรงมา ตอบสังคมได้ ด้าน"ชูศักดิ์" ชี้ หากคว่ำกฎหมายดังกล่าว คือการโกงแบบเซียนเหยียบเมฆหวังอยู่ยาว

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความไม่ชัดเจนในการกำหนดระยะเวลาการเลือกตั้งว่า ขณะนี้ความชัดเจน หรือไม่ชัดเจน ของการกำหนดวาระเวลาการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับการทำงานของคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่ายคือ สนช. กกต. กรธ. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จากนั้นขั้นตอนสุดท้ายขึ้นอยู่กับ สนช. ว่าจะพิจารณาเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ ถ้า สนช. เห็นชอบก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการประกาศใช้กฎหมาย ซึ่งจะทำให้เห็นความชัดเจนขึ้น แต่ถ้าสนช. ไม่เห็นชอบกฎหมายก็ตกไปอันส่งผลให้เกิดความไม่ชัดเจนอย่างมากตามมา เพราะจะต้องเริ่มกระบวนการร่างกฎหมายกันใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะใช้วิธีไหน อย่างไร ไม่มีใครบอกได้ว่าการเลือกตั้งจะอยู่ในช่วงระยะเวลาใด อันจะก่อให้เกิดความสับสน ความไม่แน่นอน ทางการเมืองตามมาอย่างแน่นอน

ดังนั้น ต้องติดตามดูว่าจะทำงานอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ ถ้าทำงานตรงไปตรงมามีเหตุผลอธิบายได้ชัดเจน เชื่อว่าผู้คนส่วนมากในสังคมก็พร้อมจะยอมรับได้ แต่ถ้าการทำงานมีลับลมคมใน ไม่ตรงไปตรงมา มีเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เชื่อว่าผู้คนส่วนมากในสังคมคงไม่สามารถยอมรับได้ อาจเป็นชนวนก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมกลายเป็นปัญหาบานปลายออกไปได้

นายองอาจ กล่าวต่อว่า ขอฝากให้ สนช. กกต. และ กรธ. ใช้วิจารณญาณพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. ทั้งสองฉบับโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน บนหนทางของการเห็นพ้องต้องกันของประชาชนส่วนใหญ่ ที่อยากเห็นประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ตามครรลองประชาธิปไตยในที่สุด

ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เท่าที่ปรากฏตามข่าว ทั้ง กรธ.ผู้ยกร่างและกกต.ผู้รักษาการตามกฎหมายต่างไม่เห็นด้วยกับร่างที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปของ สนช.ในหลายๆ ประเด็น ในที่สุดคงนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการ เพื่อหาข้อสรุปแล้วนำเสนอ สนช.เพื่อพิจารณา หากพิจารณาที่ไปที่มาขององค์กรที่เกี่ยวข้องก็มาจากแม่น้ำสายเดียวกัน มาจาก คสช.ด้วยกัน ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดการปีนเกลียว พูดกันไม่รู้เรื่องถึงขั้นแตกหัก ดูไม่น่าจะเกิดขึ้น คงจะมีทางรอมชอมหาข้อยุติกันได้แล้วเสนอ สนช.เพื่ออนุมัติกฎหมายในขั้นสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญไปเขียนว่าหาก สนช.ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กรรมาธิการฯ เสนอและมีมติไม่น้อยกว่าสองในสามไม่อนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าว ให้ร่างกฎหมายนั้นเป็นอันตกไป และไม่ได้เขียนอะไรไว้อีกว่าจะต้องยกร่างใหม่อย่างไร ใครยกร่าง ใช้เวลาเท่าไร กรณีจึงอาจเข้าใจได้ว่าเป็นความจงใจของผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าต้องการให้เกิดสภาพเช่นนั้นหรือไม่

"แน่นอนว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น การเลือกตั้งก็ต้องเลื่อนออกไปอีก และคงไม่ใช่แค่วันสองวัน อาทิตย์สองอาทิตย์ เพราะยังไม่สามารถประกาศใช้กฎหมายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง ต้องยกร่างกันใหม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็คือการร่วมกันโกงกฎหมายอีกนั่นเอง โกงแบบสมคบคิด แบบเซียนเหยียบเมฆ ถึงเวลานั้นก็จะถึงบางอ้อว่าการรัฐประหารเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและให้อยู่ในอำนาจให้ยาวที่สุดเท่าที่จะอยู่ได้ หรือโดยไม่รู้จะเอามุกอะไรมาเล่นได้อีกแล้ว หรือจนกว่าจะมีอันเป็นไป เช่น ถูกขับไล่ไปเสียก่อน คำที่หัวหน้า คสช.พูดว่าต้องรอให้กฎหมายเสร็จเสียก่อนจึงดูเหมือนคำพูดที่ไร้เดียงสาเสียเหลือเกิน" นายชูศักดิ์ กล่าว

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)กล่าวว่า เราคงต้องพูดกันด้วยเหตุและผลและหวังว่าพวกเขาจะเข้าใจเหตุผลที่เราโต้แย้งโดยเฉพาะประเด็นที่อาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเช่นในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.การที่ให้มีมหรสพอาจจะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างพรรคเล็กกับพรรคใหญ่อาจจะทำให้เกิดความไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้งได้

ส่วนการขยายเวลาการเลือกตั้งเป็นเวลา 07.00 - 17.00น.นั้นฟังดูตอนแรกเหมือนจะดีหวังให้คนออกมาเลือกตั้งจำนวนมากแต่ของเดิมที่ให้เลือกตั้งเวลา 08.00 -15.00น.ในครั้งก่อนก็มีคนออกมาใช้สิทธิมากถึงร้อยละ75อยู่แล้วและหลายพื้นที่ที่ทุรกันดารเป็นป่าเขาอาจจะไม่สะดวกเวลาขนส่งหีบเพื่อไปนับคะแนนอาจจะกินเวลาไปในช่วงค่ำมืดจะเกิดการทุจริตได้ง่ายกว่าเดิมหรือไม่

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.การแบ่งประเภทผู้สมัครเป็น 2 กลุ่ม คือแบบอิสระและตัวแทนจากองค์กรตนคิดว่าขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแน่ส่วนการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลดกลุ่มอาชีพเหลือ 10กลุ่ม จากที่ กรธ.เสนอ 20 กลุ่มอาจจะทำให้ความหลากหลายของ ส.ว.ที่มาจากอาชีพต่างๆ ลดลงและการเลือกกันเองแทนการเลือกไขว้อาจจะทำให้เกิดการฮั้วได้ง่ายกว่า ทั้งหมดนี้เราต้องอธิบายให้กับทาง กมธ.เข้าใจถึงผลเสียที่จะตามมาตนหวังว่าทาง กมธ.และ สนช.จะรับฟังและเข้าใจ

"แต่ที่น่ากังวลคือหากข้อโต้แย้งของเราผ่าน กมธ.แล้ว และปรับแก้ให้ถึงตรงนั้นเราก็ต้องหาทางชี้แจงแก่ สนช.ให้เข้าใจด้วยว่าเหตุผลที่ปรับแก้คืออะไรไม่เช่นนั้นหาก สนช.โหวตไม่เห็นด้วยร่างกฎหมายนั้นก็ตกไปและต้องร่างใหม่อาจจะกระทบต่อการเมืองอย่างสูงรวมทั้งกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ด้วยเราหวังว่าหากแก้ไขแล้ว สนช.จะเข้าใจ" นายชาติชาย กล่าว

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย(สปท.) แสดงความเห็นว่า จุดหักเหเฉพาะหน้าของโรดแมปเลือกตั้งว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่อย่างไร ต้องจับตาดูกระบวนการพิจารณากฎหมาย 2 ฉบับ คือ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของ กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายคือ สนช. กรธ.และ กกต. โดยเฉพาะ พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น มีรายละเอียดหลายประเด็นที่เห็นต่างกันอยู่มาก ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งถ้า กรธ.3 ฝ่ายเห็นต่างกันและต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของ สนช. เพื่อผ่านร่าง พรป.อาจเกิดปัญหาได้ หรือขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญหากวินิจฉัยว่า พรป.ดังกล่าวขัดกับเขตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ก็ยิ่งจะไปกันใหญ่ เพราะต้องเริ่มต้นเขียนกันใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ และใครจะประกันว่าจะไม่เกิดปัญหาใหม่ขึ้นอีก

ทั้งนี้ ข้อพิพาทในสาระสำคัญของร่าง พรป.2 ฉบับนี้ อาจมีคนมองว่าเป็นเกมของคนที่ยังไม่อยากให้มีการเลือกตั้งก็ได้ หรืออาจถูกมองว่าเป็นปัญหาที่ผู้เกี่ยวข้องทั้ง กรธ.สนช.และ กกต.เห็นต่างกันโดยสุจริตใจก็ย่อมได้เช่นกัน แต่ปัญหาก็คือจะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อโรดแมปเลือกตั้งลดลงหรือจางหายไป จนอาจกลายเป็นเงื่อนไขทางการเมืองให้กลุ่มเรียกร้องเลือกตั้งยกเป็นเหตุผลในการระดมคนมาชุมนุมกดดันรัฐบาลได้มากขึ้นเช่นกัน

"หากรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งชัดเจนแรงกระเพื่อมหรือกดดันทางการเมืองก็อาจลดลง แต่ก็เป็นปัญหาว่ารัฐบาลเองจะประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่เลื่อนอีกก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน สถานการณ์วันนี้ยิ่งนับวันตัวแปรและปัจจัยกำหนดวันเลือกตั้งยิ่งดูสลับซับซ้อนและยุ่งยากขึ้นเป็นลำดับ" นายสุริยะใส กล่าว