วันที่ 9 มี.ค. 2565 ที่รัฐสภา นิกร จำนง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง เปิดเผยถึงประเด็นสำคัญในการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองว่า เป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษ เนื่องจากไม่ได้ใช้ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นหลักในการพิจารณา เนื่องจาก กมธ.ไม่กล้าแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้เสนอ จึงยึดเอาร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งสามารถมีขอบเขตการแก้ไขได้กว้างขวางกว่า
ส่วนแนวทางการพิจารณาแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ที่ กมธ. จะเริ่มพิจารณาเป็นวันแรกนั้น กมธ. จะเริ่มลงรายละเอียดแก้ไขทันที เพราะ กมธ. หลายคนทราบปัญหาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะกระบวนการ 'ไพรมารีโหวต' ของพรรคการเมือง ในการสรรหาผู้สมัครลงเลือกตั้ง และส่วนตัวเชื่อว่าในการพิจารณาประเด็นดังกล่าว อาจมีข้อโต้แย้งจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เป็น กมธ. โดยอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคการเมืองก็จะต้องมีการพูดคุยกันกับ ส.ว. เพราะในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เสนอร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น พรรคการเมืองก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาของ สนช. จนเกิดปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติ ทำให้ คสช. ต้องออกคำสั่ง มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งกระบวนการไพรมารีโหวต และตัวแทน-สาขาพรรคประจำเขตการเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า หาก กมธ. จะแก้ไขขั้นตอนการทำไพรมารีโหวต ก็จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ กรธ. ไม่ได้บัญญัติกระบวนการดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นใช่หรือไม่ นิกร เผยว่า ตนได้เตรียมนำประเด็นดังกล่าวมาหักล้างกับสมาชิกวุฒิสภา เพราะทั้งรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บัญญัติให้พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตเพื่อหาผู้สมัครเลือกตั้ง อีกทั้ง มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ไม่ได้บัญญัติกระบวนการไพรมารีโหวตไว้ในร่างกฎหมายตั้งแต่แรกเช่นเดียวกัน
นิกร ยังกล่าวถึงกรณีที่ กมธ. ได้ตั้งเป้าในการทำงาน พิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายให้เสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย. นี้ว่า เมื่อ กมธ.ได้พิจารณาไประยะหนึ่งแล้ว ในช่วงปลายเดือน มี.ค. นี้ กมธ.จะหารือร่วมกันว่า ควรจะปรับเพิ่มเวลาหรือเพิ่มวันในการพิจารณา เพื่อให้ทันเดือน เม.ย. หรือไม่ และให้สามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระ 2 หลังเปิดสมัยประชุมรัฐสภา ในปลายเดือน พ.ค.ได้ทันที ส่วนความจำเป็นในการขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อมาพิจารณาร่างกฎหมายการเลือกตั้งโดยเฉพาะนั้น ยังจะต้องรอ กมธ. หารือถึงเหตุความจำเป็นก่อน และหลังจากนั้นจึงเสนอต่อ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาต่อไป
'ไทยภักดี' แนะ กมธ.กฎหมายลูก 3 ข้อเสนอ ให้คนรับเงินซื้อเสียงไม่ผิด-งบประมาณหาเสียงใช้เงินดิจิตอล-สูตรคำนวณต้องยึดตาม รธน.
ด้าน วสันต์ มีวงศ์ รองหัวหน้าฝ่ายการเมือง พรรคไทยภักดี เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ผ่าน นิกร จำนง เลขานุการ กมธ.
โดย วสันต์ เผยว่า พรรคไทยภักดีมีความห่วงใยคณะกรรมาธิการในการพิจารณากฎหมายลูก จึงอยากให้มีการแปรญัตติเพิ่มเติม 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือเรื่อง พรรคไทยภักดีขอย้ำว่าเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้บัญญัติให้การดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต รวมทั้งวิธีการคำนวณเพื่อหาสัดส่วนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต้องยึดหลักการที่ว่าคะแนนเสียงของประชาชนทุกคะแนนมีความหมายต่อผลการเลือกตั้ง ทุกคะแนนต้องไม่สูญเปล่า-ไม่ตกน้ำ
ประเด็นที่ 2 เป็นเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งเสนอว่าต้องให้คนที่รับเงินจากการซื้อเสียงไม่มีความผิด และสนับสนุนให้มีการชี้เบาะแสจนนำไปสู่การจับกุมผู้ให้เงิน ที่ผ่านมาทั้งคนซื้อเสียงและคนรับเงินมีความผิดด้วยกันทั้งคู่ ทำให้ไม่สามารถตัดวงจรการซื้อสิทธิขายเสียงได้
และประเด็นสุดท้ายเป็นข้อเสนอให้คณะกรรมาธิการพิจารณาระบบ 'ดิจิตอลบาท' ในการใช้จ่ายเงินงบประมาณช่วงหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผ่านการโอนจากแอปพลิเคชันของธนาคารเท่านั้น โดยห้ามไม่ให้จ่ายเงินสดเด็ดขาด เพื่อให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และยังเป็นการแสดงถึงความเท่าเทียมในการจ่ายงบประมาณของผู้สมัคร
ด้าน นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขากรรมาธิการฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ ระบุว่า ประเด็นแรกเรื่องการคำนวณสัดส่วน ส.ส. ถือเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งมีผู้แปรญัตติอยู่แล้ว ส่วนประเด็นการปรับให้ผู้รับเงินไม่มีความผิด ตนจะนำเรียนในที่ประชุมต่อไป ขณะที่ประเด็นระบบดิจิตอลบาท ต้องไปหารือกับตัวแทนพรรคการเมืองก่อน ที่สำคัญ ไม่สามารถนำมาหารือใน กมธ. เนื่องจากไม่มีหลักการ แต่การประชุมมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต. อยู่ด้วย ตนจะนำข้อเสนอนี้ไปหารือต่อไป