ทางการจีนประมาณการว่าในช่วงวันที่ 1- 10 ก.พ. มีชาวจีนเดินทางในประเทศกว่า 730 ล้านคน ทั้งทางรถไฟ ทางเรือ และทางเครื่องบิน ซึ่งคาดว่าผู้เดินทางในช่วงเวลาดังกล่าวลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์
แต่ในจำนวน 700 กว่าล้านนี้ บางส่วนที่เดินทางออกจากปักกิ่งอาจจะไม่ได้กลับมาอีก
รายงานพิเศษของเอเอฟพีระบุว่า ประเทศจีนทำสถิติเป็นประเทศที่มีการเคลื่อนย้ายของประชากรมากที่สุดในโลก
ปักกิ่ง ซึ่งขณะนี้มีประชากรอยู่ราว 21.5 ล้านคน พยายามจัดการกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 2020 ปักกิ่งควรจะมีประชากรอยู่ราว 23 ล้านคน ขณะเดียวกัน เมืองใหญ่แห่งนี้มีพื้นที่อยู่ราว 16,800 ตารางกิโลเมตร ก็เพิ่งจะจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างผิดกฎหมายไปกว่า 40 ล้านตารางเมตร ซึ่งส่วนใหญ่ก็คืออาคารที่พักอาศัยและร้านค้าของผู้มีรายได้น้อย
หลี่ เหวิน พนักงานในภัตตาคาร วัย 47 ปี เป็นหนึ่งในประชากรที่อาศัยในปักกิ่งที่ซื้อตั๋วขาเดียวกลับบ้าน เพราะการใช้ชีวิตในเมืองหลวงที่มีนโยบายขจัดคนจนและสิ่งปลูกสร้างสำหรับคนจน ทำให้การดำรงชีพในปักกิ่งต่อไปเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งสำหรับตัวเธอเองและแรงงานอพยพอีกเป็นจำนวนมาก
หลี่ เหวิน ย้ายเข้ามาปักกิ่งเมื่อ 10 ปีก่อน ทำงานเพื่อหาเงินส่งเสียลูกสาวซึ่งขณะนี้เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเฉิงตู
“ฉันย้ายเข้ามาปักกิ่งเพราะว่าค่าแรงในเมืองหลวงสูงกว่าเมืองอื่นๆ แต่ว่าในย่านที่ฉันอาศัยอยู่ พวกร้านค้าเล็กๆ ถูกทุบไปหมดแล้ว” หลี่กล่าวกับเอเอฟพี
“ฉันอยู่ในปักกิ่งต่อไปอีกไม่ได้ถ้าต้องจ่ายค่าเช่าบ้านแพงขึ้น 3 เท่าสำหรับการเช่าอพาร์ตเมนต์ปกติ” หลี่อธิบาย
เงื่อนไขชีวิตทำให้เธอต้องนั่งรถไฟที่แน่นขนัดกลับบ้านที่เฉิงตู ซึ่งต้องใช้เวลาเบียดเสียดกับผู้โดยสารคนอื่นๆ อยู่ราว 28 ชั่วโมง กว่าจะถึงปลายทาง
“ลูกสาวเพิ่งจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขาก็ยังทำงานไม่ได้ ดังนั้นฉันก็ยังต้องทำงานเพื่อส่งเสียลูก แต่ฉันก็ยังไม่มีแผนว่าจะทำอะไรดี ก็คงต้องรอดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง” คุณแม่วัย 47 กล่าวอย่างไม่รู้คำตอบในอนาคต
พาโบล หวัง ผู้จัดการไชนา เลเบอร์ บุลเล็ตติน ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมสิทธิแรงงานในจีน วิจารณ์ว่าทางการปักกิ่งไม่ต้องการให้แรงงานอพยพเหล่านี้ตั้งรกรากที่นี่ และเรียกมาตรการนี้ว่า การยกระดับเศรษฐกิจ แต่ด้วยนโยบายเช่นนี้ แรงงานอพยพจำนวนมากจะต้องกลับบ้านโดยไม่ได้กลับมาปักกิ่งอีก
ทางการปักกิ่งได้เริ่มมาตรการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุไฟไหม้อาคารที่ไม่ได้มาตรฐานและมีผู้เสียชีวิตไป 19 ราย เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยเป้าหมายในการรื้อถอนคือการจัดการอาคารไม่ได้มาตรฐานให้หมดไปพร้อมกันทั้งเมือง
การดูแลความปลอดภัยจากอัคคีภัยเป็นปัญหาใหญ่สำหรับย่านพักอาศัยราคาถูกในเมือง เพราะการติดตั้งสายไฟมักจะทำอย่างลวกๆ และไม่ค่อยมีทางออกฉุกเฉิน
แต่ด้วยการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพแต่โหดเหี้ยมและการไล่รื้อขนาดใหญ่ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้นโยบายดังกล่าวได้รับการคัดค้านจากสาธารณชน
แม้ว่าจะถูกเสือกไสให้ออกไปยังเมืองชายขอบ แต่แรงงานอพยพจากเมืองชนบทกว่า 3 ล้านคน ก็คือคนที่ทำให้เศรษฐกิจของจีนคึกคัก พวกเขาคือแรงงานที่ต้องรับมือกับงานที่ยาก หนัก สกปรก และบางครั้งก็อันตราย ซึ่งประชากรของปักกิ่งเลี่ยงที่จะทำ เช่น งานก่อสร้าง การทำงานในบ้าน งานที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด ส่วนใหญ่ต้องใช้แรงงานจากหัวเมือง
เอเอฟพีวิเคราะห์ว่าการที่แรงงานเริ่มอพยพกลับบ้านเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของปักกิ่ง โดยปี 2016 มีอัตราการเติบโตช้ากว่าปีก่อน