ไม่พบผลการค้นหา
คำสั่งย้ายปลัด-รองปลัด พม. เข้าปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ มีผลทันที เร่งสอบปมทุจริตเงินสงเคราะห์คนจน ด้าน อธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ ชี้ผอ.ศูนย์คนไร้ที่พึ่งขอนแก่นและเจ้าหน้าที่ 1 รายมีความผิดวินัยร้ายแรง

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีหนังสือคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 52/2561 ให้นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และนายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. ให้มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี โดยยังคงอัตราเงินเดือนเดิมว่า หนังสือดังกล่าวเป็นของจริง ที่เพิ่งออกมาและมีผลบังคับทันที (24 ก.พ.) ให้ปลัด พม. และ รองปลัด พม. มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบส���นหาข้อเท็จจริง กรณีการทุจริตเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 

"ตามหลักการแล้ว หากพบมีเรื่องร้องเรียนที่มีข้อมูล นายกรัฐมนตรีจะสั่งให้มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่ได้หมายความว่ามีความผิด โดยการโยกย้ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับข้อมูล ขณะเดียวกันคณะกรรมการที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ก็ยังคงทำงานต่อไป" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตุว่า หลังจากนี้ต้องติดตามการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังจาก พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุุก่อนหน้านี้ว่า พม. ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อหารือและประสานงานหาวิธีตรวจสอบหาผู้กระทำความผิด โดยจะใช้เวลาสอบ 1 เดือน หรือ ถึงสิ้นเดือน มี.ค. นี้ 

ด้านนางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการสอบวินัยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น พบว่า ผอ.ศูนย์ และเจ้าหน้าที่ 1 คน มีความผิดวินัยร้ายแรง และได้มีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาถึงบุคคลทั้ง 2 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งตามระเบียบหลังรับทราบข้อกล่าวจะให้เวลา 15 วัน ในการหาข้อมูลมาหักล้าง หากไม่สามารถหักล้างได้ ต้องยืนตามข้อกล่าวหา ซึ่งโทษสูงสุดของวินัยร้ายแรงคือ ไล่ออก หรือปลดออก ส่วนเจ้าหน้าที่อีก 2 คน ซึ่งพบความผิดวินัยไม่ร้ายแรง อยู่ระหว่างการสอบสวนเชิงลึกก่อนแจ้งข้อกล่าวหา

ขณะที่ การสอบวินัยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.เชียงใหม่ ยังไม่ได้รับรายงานผลสอบ ศูนย์ฯ จ.บึงกาฬ อยู่ระหว่างส่งเจ้าหน้าที่สอบข้อเท็จจริง และล่าสุดที่ป.ป.ท.ตรวจพบความไม่ชอบมาพากลศูนย์ฯ ตราด จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม พบศูนย์ฯ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี สตูล ที่ไม่มีปัญหาการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์

เพื่อไทย จี้ รบ. สะสางปัญหาทุจริต

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การทุจริตเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทำให้พบว่าการที่รัฐบาลคสช.ยิ่งอยู่นาน ประชาชนกลับรู้สึกเหมือนกับว่ามาตรฐานการตรวจสอบทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลด้อยลงหรือไม่ เพราะพบเห็นการทุจริตในวงกว้างแทบทุกระดับ โดยสถานการณ์เช่นนี้เป็นวิกฤตศรัทธาที่เกิดจากการทุจริต ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ในการเอาผิดและป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นที่พบมากในช่วงท้ายของรัฐบาล

เรื่องแดงเพราะนศ.ฝึกงานพบความไม่ชอบมาพากล

สำหรับการตรวจสอบการทุจริตดังกล่าว สืบเนื่องจาก น.ส. ปณิดา ยศปัญญา นักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร้องเรียนต่อเลขาธิการ คสช. ถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการ ขณะที่ได้เข้าฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ในเรื่องเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ป่วยโรคเอดส์ ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เมื่อปลายปี 2560 รวมเป็นเงินกว่า 6.9 ล้านบาท และนำไปสู่การขยายผลหาผู้กระทำการทุจริต

ทั้งนี้ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เพิ่งก่อตั้งตาม พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 และมีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ เมื่อปี 2558 โดยนิยาม 'คนไร้ที่พึ่ง' ว่า เป็นบุคคลที่ไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และให้รวมบุคคลที่อยู่ในสภาวะยากลำบากและไม่อาจพึ่งพาบุคคลอื่นได้