อาจจะดูเป็นวิธีการซื้อของแบบใหม่ๆ ที่คนไทยไม่คุ้นชินมากนัก แต่ด้าน เมี่ยว-ฤดีชนก จงเสถียร เจ้าของร้าน ‘ซีโรโมเมนต์ รีฟิลเลอรี’ (ZeroMoment Refillery) กลับเลือกนำเสนอคอนเซ็ปต์การใช้ชีวิตแบบไม่ต้องสร้างขยะ (Zero Waste) โดยเลือกย่านชุมชนแถวพระรามเก้า ซึ่งใกล้ๆ บ้านของเธอเป็นสถานที่ตั้ง
ท่ามกลางการถกเถียงประเด็นขยะล้นโลก ‘ซีโรโมเมนต์’ พยายามเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ขายของใช้ในชีวิตประจำวัน วัตถุดิบทำอาหาร ในรูปแบบที่ลูกค้าสามารถนำขวด โหล ถุง หรือภาชนะรองรับอื่นๆ มาเติมได้ เพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะพลาสติก
เมี่ยวบอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้จำเป็นต้องเข้าใจคอนเซ็ปต์ทั้งหมดก็ได้ แค่เข้าใจว่าการนำภาชนะกลับมาใช้ซ้ำมันช่วยลดขยะให้โลกได้ก็เพียงพอแล้ว
Voice On Being ติดต่อขอคุยกับเมี่ยวในวันที่เธอเปิดร้านครบ 10 วันพอดี จึงได้เห็นภาพลูกค้าพนักงานออฟฟิศที่กลับมาซื้อผงขัดตัวซ้ำ พร้อมนำภาชนะใบเดิมที่ซื้อเมื่อครั้งก่อนมาด้วย และลูกค้ารายใหม่ที่ใช้ชีวิตด้วยความตั้งใจจะไม่สร้างขยะมาเป็นปี ลูกค้ารายนี้ของเมี่ยวทำแป้งฝุ่นสำหรับทาหน้าเอง ด้วยการผสมแป้งมันสำปะหลังกับขมิ้น เธอแวะดูร้านก่อนเดินกลับไปเปิดท้ายรถ แล้วหิ้วขวดแก้วนับ 10 ขวด เพื่อซื้อสินค้า หนึ่งในนั้นคือ ผงกระเจี๊ยบ ซึ่งเธอบอกว่าจะนำไปทำบลัชออนสำหรับทาแก้ม
เมี่ยว : ตอนแรกที่เปิดร้าน ไม่ได้ประชาสัมพันธ์เลย ก็จะบอกเพื่อน แล้วก็มีคนแถวนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนขับรถผ่าน เดินผ่าน เป็นครอบครัว คนทำงาน เขาจะแวะเข้ามา เริ่มมีเข้ามาดูครั้งแรก ครั้งที่สองก็มาซื้อ เอาภาชนะมาเอง
เมี่ยว : คนเอาภาชนะมาเอง 40 : 60 ละกันค่ะ 60 เปอร์เซ็นต์คือคนซื้อภาชนะใหม่ แต่เขาก็กลับมาด้วยภาชนะเดิมที่เขาซื้อนะ อย่างพี่ร้านตรงข้ามเป็นร้านทำผม เขามาทุกวันเลย ครั้งแรกซื้อขวดเยอะมาก หลังจากนั้นก็เอาขวดกลับมาเอง จริงๆ แล้วดีด้วย เพราะเขารู้ว่าของสิ่งที่จะซื้อเขาใช้กับภาชนะแบบไหน อันนี้ชอบปั๊ม อันนี้ชอบหมุน ก็แล้วแต่
เมี่ยว : ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นนะ หมายถึงว่าเขาไม่ได้เข้าใจคอนเซปต์ร้านขนาดนั้น ไม่แน่ใจว่าซื้ออะไรยังไง แต่เขารู้ว่าเขาเอาภาชนะมาเองได้ มันช่วยลดขยะ คนน่าจะเข้าใจตรงนี้
เมี่ยว : จริงๆ เป็นคนสนใจปัญหาสังคมทั่วๆ ไป แล้วก็อยากจะทำอะไรสักอย่างที่ทำได้ ได้ไปเห็นร้านแบบนี้ที่ต่างประเทศก็รู้สึกว่าใกล้ตัว เพราะปกติเวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ต ด้วยความที่บ้านมีพี่น้องหลายคนก็จะบอกๆ กันว่าอะไรหมด ก็จะมีการเตรียมตัวก่อนไปซื้อ เลยรู้สึกว่าร้านแบบนี้ไม่ยากเกินไปที่คนไทยจะทำได้ ก็แค่บวกภาชนะเพิ่มเข้ามาในการออกไปซื้อ ก็ได้ตอบโจทย์ว่าช่วยแก้ปัญหาสังคมด้วย แม้จะสักนิดหนึ่งก็ยังดี คือการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคน
เมี่ยวทำรีเสิร์ชเยอะมาก ดูหลายที่ และพบว่าเขามีจุดเด่นแต่ละร้านไม่เหมือนกัน เราก็เลือกสิ่งที่คนไทยโอเคและค่อยๆ ปรับ
เราไม่ได้อยากจะทำแค่ร้านรีฟิล บอกทุกคนมาช่วยกันรักษ์โลกเถอะ บอกตรงๆ แบบนั้นมันเข้าใจยากค่ะ อยากดึงดูดด้วยการทำร้านที่น่าเข้า จากนั้นสร้างความสนุกให้เขาด้วยการที่เขาได้เข้ามาทำเองทุกอย่าง รู้สึกว่าเรื่องนี้คนไทยน่าจะโอเค
เมี่ยว : เราคิดว่าเราอยากอำนวยความสะดวก ทำให้เรื่องรักษ์โลกมันไม่ได้ลำบากเกินไป คนบางคนไม่ได้อดทนเยอะขนาดนั้น ถ้ามาเพื่อแค่ของสิ่งเดียวมันอาจจะเสียเวลา เรารู้สึกว่า โอเค ก็เพิ่มเรื่องอาหารมาด้วย เพราะไปซูเปอร์ฯ เราก็ซื้อทั้งน้ำยาสระผม น้ำยาซักผ้า ของกิน ของใช้ ไปทีเดียวได้ครบ เราเลยรู้สึกว่าอยากทำให้มันครบรูปแบบ
เราจะมีอาหารแห้ง น้ำมัน ซอส ถังที่เก็บต้องเป็นถังสำหรับน้ำมัน หรือซอส โดยเฉพาะ ไม่อยากให้คุณภาพเสียไปมาก ต่างจากชีวิตปกติของเขา
เมี่ยว : ความสะอาดเป็นสิ่งแรกเลยที่ให้ความสำคัญ ตั้งแต่จะเปิดร้านคิดเรื่องความสะอาดตลอดว่าจะทำยังไง เพราะถามเพื่อนหลายคนก็บอกเหมือนกันว่า ไม่แน่ใจว่าจะมาหรือเปล่าถ้ามีอาหารมาวางขาย
นี่เป็นเหตุผลที่ทำร้านเป็นสีขาวหมดเลย เพราะเราจะสามารถสังเกตเห็นทุกอย่างได้ทันที และเรื่องการเก็บ ก็จะมีอุปกรณ์ที่ใช้เก็บ คือเพื่อปิดกั้น ก็สั่งมาจากต่างประเทศ มีตัวเก็บความชื้นไว้ด้านใน เราคอยดูแลเรื่องพวกนี้ ช้อนตักทุกอย่างเราดูแลเก็บทำความสะอาดรายวัน ไม่ต้องห่วง พวกนี้ก็จะมีตารางทำความสะอาด ถอดข้างในออกมาล้าง เราก็จะมีตัวสำรองที่จะเอามาใช้แทน แล้วเอาอันเดิมไปล้าง
เมี่ยว : ผสมค่ะ มีทั้งออร์แกนิก ธรรมชาติ และทั่วไปด้วย พยายามเลือกของที่ท้องถิ่นนั้น เด่นๆ ถ้าเป็นของในประเทศเราก็จะพยายามติดต่อกับผู้ผลิตท้องถิ่น เขายินดีขายในสัดส่วนใหญ่ๆ ถ้าเป็นสินค้าจากต่างประเทศเรากก็จะมีซัพพลายเออร์ของเรา
ที่ไม่ออร์แกนิกทั้งหมดเพราะราคามันค่อนข้างสูง แต่บางอย่างที่มันโอเค มีความสำคัญที่ต้องออร์แกนิกอย่างข้าว ก็จะเลือกให้เป็นแบบนั้น แต่ของบางอย่างที่ไม่จำเป็นก็ทั่วไป อย่างเกลือก็เป็นเกลือธรรมชาติ ราคาทั่วไป
อยากให้ทุกคนจับต้องได้ ด้วยราคา ไม่ได้คิดว่าเข้ามาแล้วร้านหรู ทุกคนสามารถซื้อของแบบนี้ได้ ลดขยะได้
เมี่ยว : ราคาปกติเลยค่ะ คือเราพยายามเทียบกับราคาปลีกในตลาด อาจจะต่ำกว่าราคาปลีก เพราะลูกค้าไม่ต้องมาซื้อแพคเกจจิ้ง ไม่เสียค่าใช้จ่ายตรงนี้ ซื้อแค่ตัวสินค้าจริงๆ
ลูกค้าเอาภาชนะมาเองก็ได้ ซื้อที่นี่ก็ได้ อันนี้เราอำนวยความสะดวกสำหรับคนที่ยังไม่เคยมีอยากจะเริ่ม เราเตรียมให้ ขายในราคาไม่แพง 15 บาท 20 บาท อะไรแบบนี้
ทุกอย่างในร้านนี้ขายเป็นกรัม แต่อันนี้ (น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ราคาอาจจะสูงนิดหนึ่ง เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ใช้แล้วไม่แพ้ ราคา 0.19 บาท ขวดหนึ่ง 100 กรัมก็ 19 บาท
อย่างสบู่คนท้องถิ่นทำเป็นแฮนด์เมด สบู่น้ำมันธรรมชาติ เราก็ไปคุยเรื่องสูตรกับเขา อยากทำให้เป็นสูตรของทางร้าน เป็นสูตรที่คิดว่าโอเค เขาทำมาให้ 2 สูตร ล้างหน้าได้ด้วย และก็มีแชมพูบาร์ เป็นยาสระผมที่ไม่ต้องมีแพคเกจจิ้ง ลูกค้าตัดตามขนาดนี้ที่ตนเองต้องการได้เลย ราคา 1.2 บาท/กรัม
เมี่ยว : ปัญหาน่าจะเป็นเรื่องความรู้ มันยากนะ บอกให้เราแยกขยะแต่แยกยังไงหรอ ก็พูดแค่นี้เราทำไม่ได้หรอกก็ต้องให้ความรู้ที่ง่ายๆ อะไรที่ง่ายๆ คนยินดีทั้งนั้นแหละ มันอาจจะมีคอมเมนต์ว่าเราแยกแล้วแต่คนเก็บขยะไม่เอาไปแยกต่อ มันเป็นเรื่องของเขา เราก็ทำของเรา แต่อันดับแรกต้องมีความรู้ก่อน ต้องมีการให้ความรู้นิดหนึ่ง แกะฉลากอันนี้ใส่อันนี้
จริงๆ ไม่ได้คิดขนาดว่าทุกคนจะต้องไม่สร้างขยะ คือมันเป็นไปไม่ได้สุดๆ เลย คือมันมีคนทำได้แหละ แต่มันก็ยาก สำคัญที่สุดเลยก็คือใช้เท่าที่จำเป็น ก็เลยเป็นที่มาของคำว่าซื้อเท่าที่จำเป็น ใช้แค่ไหนซื้อแค่นั้น แล้วก็จริงๆ เรื่องแยกขยะช่วยได้ ใช้เท่าที่จำเป็น ใช้ซ้ำ ถ้ามีขยะเกิดขึ้นแล้วก็แค่พยายามแยกขยะ
เมี่ยว : จริงๆ จะมีของเพิ่มกว่านี้ให้หลากหลาย ปัญหาที่เจอก็คือลูกค้าอยากมาแต่เขาไม่ทำกับข้าว ไม่รู้จะซื้ออะไร ซื้อได้แต่น้ำยา แต่ไม่รู้จะเอาซอสไปทำอะไร เราอยากเพิ่มอาหาร Ready to Eat ให้เขาหน่อย เช่น คอนเฟล็ก คุกกี้ ก็เดี๋ยวจะเพิ่มดู
หากมีโอกาสก็อยากให้ร้านไปอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัย เพราะคนซื้อของคงไม่ขับรถไปไกลๆ เพื่อซื้อหรอก ก็คิดว่าถ้าเป็นไปได้ ก็คงจะมีสาขาเพิ่มขึ้น
ที่อยากทำก็อยากให้คนไทยมีไลฟ์สไตล์แบบนี้ อย่างเช่นเราจะเคยได้ยินว่า คนยุโรปรักธรรมชาติ เราก็อยากให้มีคำพูดว่า ‘คนไทยสายกรีน’ เหมือนกัน ไม่ใช่แค่คนไทยสนุก ใจดี อารมณ์ดี อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของคนไทยเราด้วย แต่มันก็คงใช้เวลาน่ะค่ะ